โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กามโรค) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคหรือผู้ที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก โดยหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย คือ “หนองใน” ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถหายได้เอง ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์
สาเหตุของโรคหนองในคืออะไร?
โรคหนองใน หรือ หนองในแท้ (Gonorrhea) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae โดยเชื้อนี้จะมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียประมาณ 1-10 วัน หนองในสามารถเกิดได้ทั้งหนองในผู้ชาย และหนองในผู้หญิง โดยการติดต่อจากบุคคลสู่อีกบุคคลจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ที่มีเชื้อหนองใน ซึ่งการติดเชื้อหนองในส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ และเยื่อบุตา เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคหนองในมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยหนองในผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ มักตรวจพบหนองที่บริเวณท่อปัสสาวะ บางรายมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นฝีที่อวัยวะเพศ อัณฑะอักเสบ ในขณะที่ผู้ป่วยหนองในผู้หญิงมักไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ ไม่คัน แต่ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเข้าโพรงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ มีหนองที่ปากมดลูก อาจเป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ ถ้าร่วมเพศทางปาก จะส่งผลให้ติดเชื้อหนองในในลำคอได้ หากมีการติดเชื้อทางทวารหนักอาจมีอาการคันบริเวณรอบรูทวารหนัก มีหนองหรือเลือดออก
ใครบ้างที่เสี่ยงโรคหนองใน?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน คือ การสัมผัสของเหลวในร่างกายของผู้มีเชื้อหนองใน เช่น เยื่อบุช่องคลอด องคชาต ทวารหนัก ช่องปาก ดวงตา ในช่องคอ รวมถึงอาจติดเชื้อได้จากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดได้ โดยเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุตา (โรคหนองในที่มีอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ อาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้) ซึ่งผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหนองใน คือ ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่เคยติดเชื้อหนองในหรือเคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ มาก่อน ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และผู้ที่ติดยาเสพติด
จะป้องกันตัวเองจากโรคหนองในอย่างไร?
1. สวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
2. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก
3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองใน หรือผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
4. งดการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยโรคหนองใน
5. รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
6. เข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
หากสงสัยว่าเป็นโรคหนองใน ควรรีบไปพบแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย