เซ็กส์ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นและมีสีสัน สำหรับคนโสดแม้เซ็กส์จะไม่ใช่ปัจจัยสี่ในชีวิตที่ขาดไม่ได้ แต่การมีเซ็กส์ก็ช่วยให้ได้ปลดปล่อยอารมณ์ความต้องการตามธรรมชาติ ทำให้รู้สึกดี อย่างไรก็ตาม การมีเซ็กส์อย่างไม่ระวังไม่ป้องกัน อาจนำมาซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หนึ่งในโรคที่พบบ่อยคือ “หูดหงอนไก่”
หูดหงอนไก่ หรือ หูดอวัยวะเพศ (Anogenital wart) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้บ่อย มักพบในเพศหญิง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV โดยไวรัสชนิดนี้ถูกค้นพบมากกว่า 200 สายพันธุ์ กว่า 40 สายพันธุ์ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการเจริญผิดปกติของผิวหนังบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก เห็นลักษณะเป็นตุ่มหรือแผ่นนูนยื่นออกมาบริเวณอวัยวะเพศภายนอก ผิวหนังรอบทวาร ฝีเย็บ หรือขาหนีบ อาจมีอาการปวด คัน หรือไม่มีอาการก็ได้ หูดหงอนไก่มักมีสีเหมือนสีผิวปกติ หากพบว่ามีสีเข้มกว่าปกติ ควรพิจารณาตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาภาวะผิดปกติอื่นหรือมะเร็งผิวหนัง
เชื้อ HPV ติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุที่ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะบุกรุกเข้าไปในเซลล์ ผ่านทางรอยถลอกขนาดเล็ก ดังนั้น การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักจึงมักเกิดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ที่แพร่เชื้อไม่จำเป็นต้องมีรอยโรค แต่ในคนที่มีรอยโรคจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากกว่าเนื่องจากมีปริมาณไวรัสสูงกว่า เมื่อได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการติดเชื้อในระยะแฝง โดยอาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 8 เดือน หากมีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 มักจะมีโอกาสเกิดหูดหงอนไก่ได้สูง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก และยังสามารถติดต่อได้โดยไม่ต้องมีการสอดใส่, การสัมผัสอื่น ๆ เช่น นิ้ว สิ่งของ หรือติดจากอวัยวะเพศอื่นที่ติดเชื้อ HPV, การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เสี่ยงมากกว่ามีคู่นอนคนเดียว, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หูดมักมีขนาดใหญ่ ดื้อต่อการรักษา มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง และมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็ง, การสูบบุหรี่
ลักษณะจำเพาะของหูดหงอนไก่ มักเป็นติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผิว สีชมพู กระจายออกทางด้านบนคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ เกิดจากเยื่อบุที่ติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดรอยโรคที่เป็นรอยนูนหรือมีก้านยื่นขึ้นบริเวณผิว เป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนดอกกะหล่ำ ส่วนมากจะนุ่ม มีขนาดหลากหลายตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรถึงหลายเซนติเมตร ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ รอบปากช่องคลอด ใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ บริเวณลำองคชาติที่ขลิบแล้ว อาจพบได้หลายตำแหน่งพร้อมกัน
หูดหงอนไก่ส่วนหนึ่งสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1 ปี ในรายที่มีรอยโรคขนาดเล็กหรือไม่มีอาการ อาจพิจารณาตรวจติดตาม หากยังไม่หายภายใน 1 ปี จึงเริ่มการรักษา ซึ่งมีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาหูดหงอนไก่ จะช่วยลดการติดเชื้อ HPV แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ เซลล์ที่มีการติดเชื้อ HPV แบบแฝงเป็นสาเหตุของการกลับเป็นซ้ำ และการแพร่เชื้อให้แก่คู่นอน โดยโรคนี้เกิดซ้ำได้บ่อยถึงร้อยละ 30-70 ที่ระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา ซึ่งสาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากคนข้างกาย หรือเชื้อในร่างกายเพิ่งก่อให้เกิดรอยโรค
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่ควรได้รับการตรวจประเมินสภาวะทางจิตใจด้วย เนื่องจากมักมีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า กลัว อับอาย และอาจมีความกังวลต่อการเกิดมะเร็งในอนาคต รวมถึงอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรักได้