การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดาและทารกทั้งในขณะตั้งครรภ์และขณะคลอด เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โลหิตจางในแม่ การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย การแท้ง การคุมกำเนิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นหลังคลอด หรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (อายุน้อยกว่า 20 ปี) ส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและไม่พึงประสงค์ นอกจากมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดาและทารกทั้งในขณะตั้งครรภ์และขณะคลอดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของแม่ เกิดความอับอาย กระทบต่ออาชีพและรายได้ หลังคลอดอาจมีการซึมเศร้า อาจจะต้องพักการเรียนหรือออกจากการเรียนทำให้เสียโอกาสในการศึกษาและเสียอนาคต ผลจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทำให้มีการทำแท้งสูง ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
เพื่อเป็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงวิธีคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ นี่คือผลการศึกษาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นเขตสุขภาพที่ 7 ของนางสาวมุธิตา อันทะเกต นายมเหศักดิ์ ภูริวัฒน์ภากรณ์ และนางสาวรัตติกานต์ รักษาภักดี ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง กลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จากงานประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ซึ่งพบว่า
กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 18.8 ปี อายุน้อยที่สุด 16 ปี อายุมากที่สุด 19 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 74.2 ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 45.5 กว่าครึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ สำหรับบุคคลใกล้ชิดเคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี คือกลุ่มเพื่อน ร้อยละ 50.0 ข้อมูลทางสูติกรรมเป็นครรภ์ที่ 2 ร้อยละ 87.9 และร้อยละ 59.1 มีประวัติไม่ได้คุมกำเนิด แต่หากคุมกำเนิดจะใช้วิธีกินยาเม็ดคุมกำเนิด ร้อยละ 51.3 และไม่มีความสม่ำเสมอในการใช้วิธีคุมกำเนิด ร้อยละ 53.8 ทำให้มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ จึงต้องมีวิธีการคุมกำเนิดที่ดี
ทั้งนี้ ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี ตลอดจนกลับสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วภายหลังการหยุดใช้ และไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีกลไกการป้องกันการคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจาก แท่งยาฝังที่อยู่ใต้ผิวหนัง ใต้ท้องแขน มีผลทำให้ฟองไข่ไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
นอกจากนี้ ฮอร์โมนยาฝังคุมกำเนิดนี้ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก ช่วยลดโอกาสการผสมไข่ สตรีที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 2,000 จึงเป็นการช่วยลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม หรือการตั้งครรภ์ซ้ำได้ สำหรับผู้ที่คลอดบุตร โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอด 3 สัปดาห์ และหากฝังยาคุมกำเนิดก่อนหรือวันที่ 21 หลังจากคลอด จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในทันที สำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้ที่แท้งบุตรหรือมีการทำแท้งก็สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้ตามปกติ ซึ่งจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที
ทั้งนี้ หญิงไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะหลังคลอด แท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด สามารถขอรับบริการคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในเครือข่ายของ สปสช. ทั่วประเทศ