ไม่อยากให้ลูกเสี่ยง! แม่ท้องต้องเข้ารับวัคซีนไอกรน

0

โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรนไม่ครบถ้วน สำหรับการป้องกันโรคไอกรนในเด็กเล็กนั้น มาตรการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรน แก่หญิงตั้งครรภ์ 

ไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุจากเชื้อ Bordetella pertussis ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อโรคในคนเท่านั้น มักก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ติดต่อโดยการสัมผัสกับละอองเสมหะของผู้ป่วย สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคไอกรนจะเริ่มมีอาการคล้ายกับโรคหวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูก อาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล และไอ ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5 – 10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู้ป (whoop) บางครั้งเด็กจะไอจนมีอาการหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วย 

สำหรับการป้องกันโรคไอกรนในเด็กเล็กนั้น มาตรการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรน (Tdap หรือ ap) แก่หญิงตั้งครรภ์ โดยให้วัคซีน aP จำนวน 1 เข็ม ทุกการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่แนะนำ 20 – 32 สัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนที่แม่สร้างขึ้นถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

จากการศึกษาเรื่องอัตราการถ่ายทอดภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนจากแม่สู่ลูกในหญิงไทย ช่วงปี 2535-2539 พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนในทารกแรกเกิดแปรผันตรงกับระดับภูมิคุ้มกันของมารดา โดยแม่ที่มีภูมิคุ้มกันระดับสูงสามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนให้กับทารกได้ร้อยละ 88.5 เมื่อเทียบกับระดับระดับภูมิคุ้มกันที่แม่มีอยู่

วัคซีนไอกรน เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไอกรน มีลักษณะเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสีขาวขุ่น ปัจจุบันมีวัคซีน aP ที่ได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถจำหน่ายและนำมาใช้ในประเทศไทย สำหรับขนาดยาที่แนะนำ คือ 1 โดส ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ ขนาด 0.5 มิลลิลิตร แบบใช้ครั้งเดียว (single-dose) บรรจุในหลอดฉีดยาพร้อมใช้ (prefilled- syringe)

ข้อแนะนำการให้วัคซีน aP ในหญิงตั้งครรภ์

1. แนะนำให้วัคซีน aP จำนวน 1 เข็ม ทุกการตั้งครรภ์

2. อายุครรภ์ที่แนะนำ 20 – 32 สัปดาห์ (ทั้งนี้สามารถให้ได้เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ขึ้นไป) เพื่อให้ได้ระดับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดไปยังลูก ควรให้วัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนคลอด ทั้งนี้ การฉีดหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ยังคงมีประโยชน์ในการลดการติดเชื้อเสียชีวิตจากไอกรนในทารกอายุขวบปีแรก

3. สามารถใช้วัคซีนรวม Tdap/TdaP แทน วัคซีน dT + aP ได้ จำนวน 1 เข็ม ทุกการตั้งครรภ์ ตามอายุครรภ์ที่แนะนำของ aP (Tdap = วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ แบบ acellular ; TdaP = วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ แบบ recombinant)

ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย คือ อาการปวดบริเวณที่ฉีด และปฏิกิริยาในระบบทั่วร่างกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยล้าและปวดข้อ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *