พ่อแม่ทุกคนย่อมหวังให้ลูกเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญา ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ นี้ อย่ารอกระทั่งเด็กโตจึงค่อยใส่ใจนะคะ อาจสายเกินแก้ได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรหาความรู้ในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์เสียตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ พ่อแม่ควรเริ่มดูแลตั้งแต่เบบี๋อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 18 ปี เน้นการส่งเสริมโภชนาการและการออกกำลังกาย
เด็กที่ขาดอาหาร โดยเฉพาะทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม จะเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย หรือเป็นนาน และรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะเตี้ย ยังมีผลต่อการพัฒนาสมองเป็นผลให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ ความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา
ในส่วนของอาหารการกินนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับอาหารอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งการเสริมสารอาหารสำคัญให้เพียงพอ ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน กรดโฟลิก ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี สุขอนามัยที่ดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เบบี๋ในครรภ์มีโอกาสเติบโตเป็นเด็กที่ร่างกายแข็งแรง มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์การเจริญเติบโตเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ยังสามารถกระตุ้นกระตุ้นให้ลูกฉลาดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ซึ่งตรงนี้แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่และวิธีการใดที่ดีที่สุด
แต่ทารกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มักจะเติบโตออกมามีสติปัญญาดี เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี สำหรับวิธีการกระตุ้นให้ลูกฉลาดควรเริ่มจาก อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทาน ต้องเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ (อาทิ กรดไขมันที่มีชื่อว่า DHA เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ความสำคัญต่อพัฒนาการสมองของลูกน้อยในครรภ์)
ส่วนวิธีอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น…
- การปรับอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใส เครียด คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขหรือ endorphin ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูก
- ฟังเพลงเพื่อเป็นการกระตุ้นระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อย
- พูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ
- ลูบหน้าท้องกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น
- การออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
ฝากไว้นะคะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ 🙂