ในระยะตั้งครรภ์ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ร่างกายของคุณแม่ท้องจึงต้องการพลังงานและสารอาหารมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อการทำงานของต่อมน้ำนม การสร้างรกและสายสะดือ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หนึ่งในสารอาหารสำคัญประเภทวิตามินที่คุณแม่ต้องการชนิดที่ขาดไม่ได้คือ “วิตามินบี”
วิตามินบี 1 (ไธอะมีน)
หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการวิตามินบี 1 มากในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี และเมตาโบลิซึมของสารอาหารอื่นๆ หากขาดวิตามินบี 1 ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เป็นโรคเหน็บชา และครรภ์เป็นพิษได้
แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 1 เช่น เนื้อหมู ข้าวซ้อมมือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วดำ งา เป็นต้น
วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน)
ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ (coenzyme) ของเอนไซม์หลายชนิด ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ทำให้ร่างกายเติบโตและพัฒนาอย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมระบบประสาท ผิวหนังและตา ช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลาย
แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ตับไก่ ตับหมู ไข่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา นม ผักหวาน เห็ดหอมสด เป็นต้น
วิตามินบี 6 (ไพริดอกซีน)
ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในปฏิริยาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์และการเผาผลาญกรดอะมิโน การสลายไกลโคเจนในกล้ามเนื้อและการสังเคราะห์กลูโคสจากกรดอะมิโนในกล้ามเนื้อ การสังเคราะห์ฮีม (heme) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง การสังเคราะห์ไนอาซิน (niacin) จากกรดอะมิโนทริปโตเฟน รวมทั้งการสังเคราะห์สารสื่อประสาทหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) ทอรีน (taurine) โดปามีน (dopamine) นอร์เอพิเนฟฟริน (norepinephrine)
แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 6 เช่น เนื้อสัตว์ กล้วย ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่แดง เป็นต้น
วิตามินบี 12
ร่างกายต้องการวิตามินบี 12 สำหรับเผาผลาญสารอาหาร การสังเคราะห์ RNA และ DNA รวมทั้งการเจริญเติบโตของเม็ดเลือดแดง วิตามิน บี 12 มีผลต่อการดูดซึมและการใช้โฟเลตในร่างกายด้วย
แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ต่างๆ หอยนางรม นมสด ไข่ สาหร่าย ซีอิ๊ว เป็นต้น
ทั้งนี้ ควรศึกษาปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันก่อนรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีนะคะ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับวิตามินบีมากหรือน้อยจนเกินไปซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อคุณแม่และเบบี๋ได้ค่ะ