คุณแม่ตั้งครรภ์คงพอได้ยินผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เกี่ยวกับอันตรายของโรคอีสุกอีใสที่ทวีความรุนแรงมากกว่าปกติหากเกิดขึ้นขณะที่มีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่โรคขึ้นแล้ว ไม่สามารถป้องกันได้ก่อนการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงหรือความรุนแรงของโรคลงค่ะ
“โรคอีสุกอีใส” คือการติดเชื้อไวรัส Varicella-Zoster ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก ในส่วนของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น หากป่วยเป็นอีสุกอีใส สิ่งที่น่ากังวล คืออาการแทรกซ้อนจากโรค เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากเป็นอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์นั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่
ไม่เพียงแต่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับผลกระทบจากอีสุกอีใสเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเบบี๋ในท้องด้วย โดยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสจะมีการติดเชื้อไปยังลูกน้อยถึงร้อยละ 10 ซึ่งการติดเชื้อในไตรมาสแรกจะมีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากเชื้อโรคผ่านรกไปยังลูกน้อยในช่วงของการสร้างอวัยวะ จึงอาจเกิดผลกระทบทำให้ลูกสมองฝ่อ มีความผิดปกติของกระดูกขาและผิวหนังได้
การดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใส
- ควรดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกาจนเป็นแผลติดเชื้อเป็นตุ่มหนองได้
- ไม่ควรแกะเกาตุ่มใส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีอาการไข้สูงควรกินยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอน ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อบรรเทาอาการ
- หากคันมากควรทายาคาลาไมน์ แต่ถ้าต้องการกินยาแก้แพ้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อสงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือรู้สึกว่าอาการแย่ลง เช่น มีไข้สูงต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะกินยาแล้ว ตุ่มใสเป็นหนอง ไอมากมีเสมหะ หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะรุนแรง
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปควรนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นทุกวัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที
- ควรหมั่นสังเกตด้วยว่ามีอาการท้องแข็งหรือเจ็บท้องก่อนกำหนดหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าว ต้องรีบไปพบแพทย์
โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน แต่ถ้ากำลังตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรฉีดวัคซีน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้ค่ะ