ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ผ่านหูผ่านตาจากหลากหลายช่องทางบนสังคมออนไลน์ คุณแม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สภาพจิตใจที่สมบูรณ์ เพราะความเชื่อผิด ๆ จากข่าวปลอมอาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวเองและทารกน้อยในครรภ์ได้
ประเด็นที่ 1 : หญิงตั้งครรภ์ฟันผุเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักน้อย
ข้อเท็จจริง : ฟันผุไม่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดและทำให้การเกิดทารกมีน้ำหนักน้อยได้ ในขณะที่โรคเหงือกอักเสบ (Periodontal disease) กลับมีความสัมพันธ์กับการเกิดทารกโดยคลอดก่อนกำหนด แต่เมื่อเข้ารับการรักษาแล้วก็ไม่ได้ช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งการทำฟันในระหว่างตั้งครรภ์สามารถทำได้อย่างปลอดภัย
ประเด็นที่ 2 : คนท้องสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพหรือทารกในครรภ์
ข้อเท็จจริง : พบข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของมารดาและทารกที่ได้รับกระท่อมก่อนการคลอด โดยกลุ่มมารดาที่ใช้กระท่อมระหว่างตั้งครรภ์ 6 ราย ช่วงอายุ 37-39 ปี จากผลการวิเคราะห์พบว่า 6 กรณีศึกษาที่ได้รับกระท่อมก่อนคลอดมีอาการแสดง โดยมารดาและทารกมีอาการถอนยากระท่อม ซึ่งมารดาจะแสดงอาการวิตกกังวล ขนลุกกระสับกระส่าย เหงื่อออกมาผิดปกติ ในส่วนของทารก 5 ราย พบอาการขาดยาในทารก (Neonatal Abstinence Syndrome) ที่มารดาใช้สารเสพติดประเภท เฮโรอีน และกลุ่มบรรเทาอาการปวดหรือยาแก้ปวด ซึ่งมีอาการหายใจหอบ เร็ว ถ่ายเหลว อาเจียน ตัวสั่น เกร็ง เป็นต้น ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อนของกระท่อมต่อการเกิดอาการถอนยา และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้น้ำกระท่อมใหญิงตั้งครรภ์ที่แน่ชัด หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีความประสงค์ใช้กระท่อมควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารก
ประเด็นที่ 3 : ตะคริวกลางคืน เป็นสัญญาณเสี่ยงตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ โรคประสาท-กล้ามเนื้อ
ข้อเท็จจริง : อาการตะคริวในเวลากลางคืนไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง สามารถพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ ยืน หรือเดินนาน ๆ ขาดการยืดกล้ามเนื้อก่อนหรือหลังทำกิจกรรม ดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือสูญเสียน้ำจากสาเหตุอื่น ๆ เกิดจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปลายประสาทอักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเลือด หรือเกิดจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดเช่น วิตามินบี แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอาการ แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน บีบนวดกล้ามเนื้อ โดยใช้ครีมทานวดที่มีความอุ่นหรือประคบด้วยน้ำอุ่นขณะถูนวดก่อนเข้านอน หรือในวันที่ยืน เดิน หรือทำกิจกรรมหนัก ๆ หากยังมีอาการเป็นอยู่ตลอดหรือไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
ประเด็นที่ 4 : เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เป็นสาเหตุทำให้แท้งลูก (จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ปล่อยมาจากเสาส่งสัญญาณ)
ข้อเท็จจริง : คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องวิทยุคมนาคม เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุในระดับต่ำจึงไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ (รวมถึงผู้คนทุกกลุ่มอายุ) และไม่สามารถทำให้คุณแม่แท้งลูกได้อย่างแน่นอน โดยลักษณะการส่งสัญญาณของเสาสัญญาณไม่ได้แผ่เป็นรัศมีวงกลมเต็มพื้นที่ แต่จะเป็นแนวระนาบจากตัวยอดเสา ซึ่งอยู่เหนือระดับบ้านเรือนขึ้นไป ไม่กระจายมายังบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม ถ้าวัดจากปลายของเสาส่งสัญญาณ อาจเป็นไปได้ว่าสัญญาณมีความแรง แต่การยิงสัญญาณในแนวระนาบ ยิ่งไกลขึ้นสัญญาณจะมีความแรงเบาลง ไม่ต่างอะไรจากการใช้โทรศัพท์ทั่วไป ดังนั้น ในเชิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า สัญญาณที่มาจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ จะสามารถส่งผลอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ข้างล่างได้
ก่อนจะเชื่อข้อมูลใด ๆ ที่ผ่านหูผ่านตาจากโซเชียลมีเดีย คุณแม่ท้องต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูลให้รอบคอบ เช็คความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและการอ้างอิง โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลโดยตรงต่อตัวเองและทารกในครรภ์