สิ่งที่คุณแม่ท้องต้องทราบก่อนการเดินทางด้วยรถยนต์

0

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางออกนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับบ้านเกิด เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนที่ต่างจังหวัด เดินทางไปกินข้าวนอกบ้าน ซึ่งในที่นี่ก็รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย เพื่อความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่คุณแม่ท้องต้องทราบก่อนการเดินทางด้วยรถยนต์

โดยปกติหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดสามารถที่จะเดินทางไปไหนได้หรือเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ เนื่องจากการเดินทางไม่ได้มีผลต่อการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น อาการแพ้ท้อง ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจจะทำให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกไม่สุขสบายและเกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ขับรถเองอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ในรายที่มีภาวะแท้งคุกคาม ความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ใกล้คลอด ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางตามลำพังหรือเดินทางไกลที่ใช้เวลานานมากกว่า 4 ชั่วโมง

สิ่งที่คุณแม่ท้องต้องทราบก่อนการเดินทางด้วยรถยนต์

กรณีคุณแม่ท้องนั่งรถยนต์

1. คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในระหว่างการเดินทาง โดยให้สายคาดของเข็มขัดนิรภัยพาดเฉียงผ่านหน้าอกลงมาที่บริเวณสะโพกด้านข้างของท้อง และให้สายคาดส่วนล่างของเข็มขัดนิรภัยอยู่ใต้ท้อง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยผ่านทางหน้าท้อง สายคาดเข็มขัดนิรภัยที่คาดจะต้องไม่หย่อนและไม่บิดเป็นเกลียว ตรวจสอบระบบการทำงานของถุงลมนิรภัยก่อนการเดินทางทุกครั้ง การคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้องและการทำงานของถุงลมนิรภัยจะช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้

2. ปรับเก้าอี้ให้อยู่ในลักษณะกึ่งเอนนอนและเลื่อนที่นั่งไปด้านหลังให้มากสุด เพื่อให้สามารถเหยียดขาและขยับข้อเท้าได้

3. ใช้หมอนอิงหนุนที่หลังและมีที่รองคอเพื่อลดอาการปวดหลังและต้นคอ

4. ควรหยุดพักอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมงหรือตามความต้องการของหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้ ลุกเดินเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อลดอาการปวดเมื่อย ลดอาการบวมและทำให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น

5. จิบน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย รวมถึงเตรียมของกินเล่นไว้แก้หิวหรือแก้เมารถ เช่น หมากฝรั่ง ผลไม้

กรณีคุณแม่ท้องขับรถยนต์

1. ปรับที่นั่งและตรวจสอบมุมของพวงมาลัยให้อยู่บริเวณกระดูกหน้าอกไม่ใช่ที่ท้องหรือศีรษะ

2. กรณีที่รถมีถุงลมนิรภัย ตรวจสอบระบบสัญญาณถุงลมนิรภัยว่าระบบยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่ และพวงมาลัยไม่ควรอยู่ชิดกระดูกหน้าอกจนเกินไป ถ้าเป็นไปได้ควรห่างประมาณ 10 นิ้ว

3. คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในระหว่างการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเองโดยเฉพาะการขับรถทางไกลที่ใช้เวลาเดินทางนาน ๆ เนื่องจากสรีระทางด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้สภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ ท่านั่งในการขับรถไม่สะดวก เคลื่อนไหวลำบาก มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ในช่วงอายุครรภ์ที่ใกล้คลอด อาจมีอาการหน่วงท้องหรืออึดอัด ท้องโตขึ้นจนไปค้ำที่พวงมาลัยรถยนต์ เวลาเบรกกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้ท้องไปกระแทกที่พวงมาลัยรถยนต์ได้

ทั้งนี้ คุณแม่ท้องควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางไกล หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ในระหว่างการเดินทาง เช่น มีอาการท้องแข็งบ่อย เลือดออกทางช่องคลอด หรือสงสัยว่ามีภาวะน้ำเดิน ฯลฯ ให้รีบไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *