เราทราบกันดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกเพศทุกวัย ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์เองก็เช่นกัน การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างมาก อาทิ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดอาการปวดหลัง ช่วยให้นอนหลับสบาย แต่เพราะมีอีกชีวิตที่ต้องดูแล แม่ท้องจึงต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยด้วย!
คู่มือการให้คำแนะนำด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย สำหรับคลินิกฝากครรภ์ยุคใหม่ โดย สสส. กล่าวถึง ข้อแนะนำเพื่อการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยขณะตั้งครรภ์ สรุปความได้ ดังนี้
- ไม่ควรออกกำลังกายในอากาศที่ร้อนและชื้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบเกร็งค้างไว้ แล้วกลั้นหายใจ
- มีโภชนาการที่ดี และควรดื่มน้ำก่อนหรือหลังออกกำลังกาย
- ภายหลังตั้งครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว ไม่ควรอกกำลังกายในท่านอนหงาย
- ไม่ควรอกกำลังกายที่เสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ หรือหกล้มได้
- ไม่ควรออกกำลังกายหนักและเหนื่อยมากเกินไป จำไว้ว่าไม่สามารถฝึกเหมือนนักกีฬาหรือคนทั่วไปได้
ทั้งนี้ คุณแม่ท้องควรหยุดออกกำลังกายทันที และรีบไปพบสูติแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย เมื่อออกกำลังกายไปแล้วมีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกหายใจติดขัด หายใจไม่ทัน
- เจ็บหน้าอก
- มีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด เช่น ปวด มีมดลูกหดรัดตัว (มากกว่า 6-8 ครั้งต่อชั่วโมง)
- มีน้ำหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด
- เวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
- มีอาการเหนื่อยหอบตั้งแต่ก่อนออกกำลัง
- ปวดศีรษะ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดน่อง หรือบวม แดง ร้อนที่น่อง
- ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง
หากไม่มั่นใจว่าควรออกกำลังกายอย่างไรเพื่อให้ส่งผลดีต่อทั้งคุณแม่และเบบี๋ในท้อง แนะนำให้ปรึกษาสูติแพทย์ก่อนนะคะ เพื่อความปลอดภัยค่ะ