4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินของคุณแม่หลังคลอด

0

สังคมไทยได้พัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อดูแลคุณแม่หลังคลอดสืบต่อกันมา เป็นระยะเวลานานวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนไทย ยังมีประเพณีในการปฎิบัติตัวและความเชื่อต่างๆ ตั้งแต่อยู่ในระยะตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือข้อห้ามหลังคลอดของคนโบราณบางประการอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดได้

4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินของคุณแม่หลังคลอด 

ความเชื่อที่ 1 : ต้องดื่มยาดองเพื่อขับน้ำคาวปลา 

ข้อเท็จจริง : น้ำคาวปลาหลังคลอดเป็นของเหลวที่ประกอบไปด้วยเลือด เนื้อเยื่อมดลูก และเมือกที่หลงเหลืออยู่ในมดลูกหลังการคลอด ซึ่งจะถูกขับออกมาเองตามธรรมชาติจากการบีบรัดตัวของมดลูกหลังคลอด (โดยปกติน้ำคาวปลาจะถูกขับออกจากร่างกายของคุณแม่ภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ขึ้นอยู่กับการหดตัวของมดลูก ซึ่งการหดรัดตัวของมดลูกจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพในคุณแม่ที่ให้นมบุตรหลังคลอด) ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าการดื่มแอลกอฮอล์หรือยาดองจะช่วยให้กระบวนการนี้เร็วขึ้นแต่อย่างใด แต่การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้มดลูกหดตัวไม่สมบูรณ์จนทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งแอลกอฮอล์สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ จึงอาจมีผลกระทบต่อทารก เช่น ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า ทำให้ทารกง่วงซึมหรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ 

ความเชื่อที่ 2 : ห้ามกินผักบางชนิด เช่น ผักชี ตำลึง ถูกจัดเป็นของแสลง ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกปวดเมื่อย 

ข้อเท็จจริง : ผักใบเขียวและผักชนิดอื่นๆ เป็นแหล่งสำคัญของวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย การบริโภคผักไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดความอ่อนเพลียหรือปวดเมื่อยแต่อย่างใด ตราบใดที่ร่างกายได้รับอาหารที่หลากหลายและเพียงพอ สำหรับคุณแม่หลังคลอด การบริโภคผักหลากหลายชนิดเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผักเป็นแหล่งของวิตามิน เช่น วิตามิน A, C, K และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียมและเหล็ก ซึ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูร่างกายและการสร้างน้ำนม การรับประทานผักให้หลากหลายยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็น

ความเชื่อที่ 3  ต้องกินอาหารเผ็ดๆ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

ข้อเท็จจริง : การเข้าอู่ของมดลูก (การหดตัวกลับสู่ขนาดปกติหลังคลอด) เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมดลูกบีบรัดตัวเพื่อขับเลือดและเนื้อเยื่อที่หลงเหลืออยู่ภายในมดลูกหลังการคลอด การกินอาหารเผ็ดไม่ได้มีผลโดยตรงต่อกระบวนการนี้แต่อย่างใด แต่อาจทำให้คุณแม่หลังคลอดมีอาการท้องเสีย แสบท้อง หรือไม่สบายท้องได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณแม่ให้นมบุตร การกินอาหารเผ็ดอาจมีผลกระทบต่อทารกที่ได้รับน้ำนม เช่น ทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายท้องหรือเกิดอาการแพ้ได้ ทั้งนี้ การนวดประคบร้อน สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและส่งเสริมการหดตัวของมดลูกได้ นอกจากนี้ การให้ทารกดูดนมบ่อยๆ ยังช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยให้มดลูกหดตัวได้ดีขึ้น

ความเชื่อที่ 4  ห้ามดื่มน้ำเย็น เพราะว่าไม่ดีต่อสุขภาพ และจะทำให้น้ำนมไหลน้อยลงด้วย 

ข้อเท็จจริง : การดื่มน้ำเย็นไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตน้ำนมหรือสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดแต่อย่างใด ร่างกายของคนเรามีกลไกในการปรับอุณหภูมิน้ำที่ดื่มเข้าไปให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายอยู่แล้ว การผลิตน้ำนมเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซินและโปรแลคติน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของน้ำที่ดื่มเข้าไป การดื่มน้ำเย็นหรือร้อนนั้นไม่มีผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำนม การให้นมบุตรบ่อยๆ และการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมการผลิตน้ำนมสำหรับคุณแม่หลังคลอด รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย การดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้องสามารถช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ แต่ไม่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำเย็นแต่อย่างใด

การดูแลตัวเองหลังการคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอในการฟื้นฟู การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกสุขภาพดีทั้งกายและใจ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *