“ท้องแข็ง” เป็นหนึ่งในอาการในช่วงตั้งครรภ์ ที่ทำให้คุณแม่จำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกเจ็บปวด โดยคุณแม่จะรู้สึกปวดเกร็งบริเวณครรภ์ เวลาเอามือไปจับจะรู้สึกว่า เป็นก้อนแข็งๆ ตึงๆ และมีความรู้สึกปวดแบบเสียวๆ ท้องน้อยร่วมด้วย คำถามคือ อาการท้องแข็งนี้อันตรายต่อคุณแม่ตั้งท้องหรือไม่? อย่างไร?
อาการท้องแข็งพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์แทบทุกราย ส่วนมากพบในผู้มีอายุครรภ์มาก หรือประมาณ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งความรุนแรงนั้นก็แตกต่างกันไป บางรายปวดมาก บางรายปวดน้อย ส่วนระยะเวลาในการเกิดอาการนั้นส่วนมากจะเป็นแบบ เป็นๆ หายๆ โดยทั่วไปก็จะเกิดความรู้สึกนี้อยู่ราว 10 นาที แล้วหายไป ก็จะกลับมามีอาการอีก แต่บางรายก็เกิดอาการนี้นาน อาจเป็นชั่วโมงๆ เลยก็เคยพบ
“อาการท้องแข็ง” มีทั้งที่เป็นอันตรายและอันตราย จึงถือเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกความผิดปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ อาการท้องแข็งในคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่…
- อาการท้องแข็งท้องตึงอันเนื่องมาจากท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่เกิดจากมีแก๊สในกระเพาะมาก หรือรับประทานอาหารมากเกินไป ทำให้เกิดการเบียดกันของกระเพาะอาหารกับอวัยวะภายใน ส่งผลให้มดลูกถูกกดทับ
- มดลูกเกิดการบีบหดตัว เนื่องจากการดิ้นที่รุนแรงของทารก ไปกระทบกับผนังมดลูก
- การทำงานหนัก ยกของหนัก การลุกนั่งเร็วๆ การเดินเร็ว การพักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงเกินไป หรือการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ ของคุณแม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นให้ลูกในท้องเคลื่อนไหวไปโดนผนังมดลูก ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งลูกได้
- กล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด ซึ่งข้อนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะสามารถทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดการแท้งบุตรได้เลยทีเดียว
- เกิดจากมดลูกบีบตัว เมื่อคลำที่หน้าท้องจะรู้สึกว่าท้องเป็นก้อนแข็ง และรู้สึกเจ็บแบบปวดนานๆ นอนพักแล้วก็ไม่หาย และถ้ามีเลือดออกร่วมด้วย ควรพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอาการท้องแข็งที่อันตรายโดยเฉพาะกับคุณแม่ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 5 เดือน และยังไม่ถึงกำหนดคลอดเพราะอาจแท้งบุตรได้
“ท้องแข็ง” เป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าปวดมาก มีอาการเกร็งติดต่อกันนานๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพราะอาจเป็นอาการท้องแข็งที่อันตรายค่ะ