หญิงท้องต้องระวัง เสี่ยงภาวะฉุกเฉิน 2 ช่วง อันตรายถึงชีวิต

0

เมื่อผู้หญิงตั้งท้องแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายย่อมเกิดขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สำหรับความเสี่ยงต่อภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินของคนเป็นแม่นั้น ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแลร่างกายของแม่ ซึ่งตามปกติแม่ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคฉุกเฉินเพิ่มขึ้น อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แนะนำว่า …

ควรดูแลให้แม่ท้องตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีภาวะเสี่ยงหรือไม่ ที่สำคัญ ควรชวนกันออกกำลังกาย ควบคุมการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉิน ส่วนแม่วัยรุ่นที่มีลูกเล็ก นอกจากจะต้องดูแลลูก ก็ต้องหาเวลาดูแลสุขภาพตัวเองด้วย เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเฉพาะบางอย่างมากกว่าผู้ชาย

สำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะยิ่งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด ซึ่งจากสถิติพบว่าตลอดทั้งปี 2559 ที่ผ่านมา มีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากการตั้งครรภ์การคลอดและนรีเวช 26,461 คน โดยภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์จะแบ่งเป็น 2 ช่วง

pregnant-women-must-be-careful-2-emergency-risks

1. ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์

ปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้แม่ตั้งครรภ์ได้รับอันตราย คือ ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อาทิ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะตกเลือด และภาวะเลือดออกในช่องท้องจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจทำให้แม่เสียเลือดมาก ซึ่งถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถสังเกตได้ดังนี้ แม่จะปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาโดยฉับพลัน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดสลับกับมีอาการหน้าท้องอืดตึง พร้อมทั้งคลำเจอก้อนที่ท้องและมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืดในขณะที่ลุกขึ้นนั่ง นอกจากนี้ ยังพบภาวะความดันโลหิตต่ำและชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งหากพบเห็นแม่ที่มีอาการเช่นนี้ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือ

2. ช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์

ภาวะความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษ แม่จะมีอาการความดันโลหิตสูงมาก อวัยวะภายในร่างกายหลายระบบล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้แม่และเด็กเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดตีบ เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ซึ่งในบางรายที่มีอาการหนักมากจะทำให้เกิดอาการชักและมีเลือดออกในสมอง


ทั้งนี้ แม่ที่ครรภ์เป็นพิษ จะมีอาการปวดศีรษะ ตามัว บวมที่ขาแขนหรือใบหน้า น้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และปวดท้องจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ฉะนั้นหมั่นสังเกตตัวเองให้ดีนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *