สิ่งที่น่ารู้ระหว่างตั้งครรภ์เรื่องการกินอาหารกับ “ธาตุเหล็ก”

0

ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ เป็นความผิดปกติทางระบบเลือดที่พบได้บ่อยที่สุดในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ มักเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะธาตุเหล็กเนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงนั่นเอง

ธาตุเหล็ก (Iron) มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกบิน ซึ่งจะเป็นตัวนำอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรกซึ่งออกซิเจนกว่า 60% ที่ส่งไปนั้น จะไปเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีการตั้งครรภ์ผู้หญิงจึงต้องการปริมาณธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เพราะถ้าลูกได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะทำให้ได้รับอาหารและออกซิเจนน้อยตามไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์

ธาตุเหล็กจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ เนื่องจากสมองของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยเริ่มมีการสร้างรอยหยักในสมองตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ สมองจะพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ สมองทารกจะมีการสร้างโครงข่ายเส้นประสาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะพัฒนายาวนานไปจนถึงอายุ 2 ปีหลังคลอด

ธาตุเหล็กกินคู่กับ…ช่วยเพิ่มการดูดซึม

1. วิตามินซี โดยการกินร่วมกับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะเขือเทศ สตอเบอร์รี่ วิตามินซี เป็นตัวช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็ก และสามารถนำธาตุเหล็กไปใช้งานได้ดีขึ้น

2. โปรตีน จากเนื้อสัตว์อื่นในมื้ออาหาร โปรตีนจากเนื้อสัตว์นอกจากจะมีธาตุเหล็กสูงแล้ว ยังมีผลทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารอื่นดีขึ้น โดยธาตุเหล็กจากสัตว์ เช่น เนื้อแดง เลือด ตับ จะดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กจากผัก

3. คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลในนม เช่น น้ำตาลแลคโตส ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีกว่าคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ โดยเฉพาะนมแม่ ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีที่สุด

4. ไขมัน ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในรูปเฟอรัสซัลเฟต (ยาเฟอร์รัสซัลเฟต เป็นอาหารเสริมธาตุเหล็กที่ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำ)

ธาตุเหล็กกินคู่กับ…ช่วยขัดขวางการดูดซึม

1. แทนนิน ในน้ำชา กาแฟ สารแทนนินมีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ฉะนั้น ไม่ควรดื่มชา กาแฟ พร้อมอาหารหรือหลังรับประทานอาหาร

2. โพลีฟีนอล ในผักใบเขียวเข้ม ขมิ้นชัน แม้สารโพลีฟีนอลจะดีต่อสุขภาพโดยรวม แต่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก

3. ไฟเตท ในผักรสฝาดและผักใบสีเขียว เช่น กระกิน ใบขี้เหล็ก ใบเหมี่ยง ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง ข้าวโพด

4. แคลเซียม ในนมและผลิตภัณฑ์นม กรณีที่รับประทานธาตุแคลเซียมเสริม หรือรับประทานอาหารกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม ควรรับประทานห่างจากธาตุเหล็กประมาณ 1- 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ คุณแม่แต่ละคนต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่ โดยเฉลี่ยแล้วแม่ท้องต้องการธาตุเหล็กประมาณ 1,000 มิลลิกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ หรือเฉลี่ย 6 มิลลิกรัมต่อวัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *