ในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสซิกานี้ สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง โดยไวรัสซิกาเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single-stranded RNA) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรค
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสซิกา สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 4-7 วัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วง 2-5 วันแรก อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ ๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาจจะไม่แสดงอาการเลยก็ได้
ไวรัสซิกา แพร่กระจายได้อย่างไร
1. เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด
2. การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด
3. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น ดังนั้น หากมีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
วิธีป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสำหรับหญิงตั้งครรภ์
1. ระวังอย่าให้ถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว
2. ดูแลเก็บกวาดบ้านให้สะอาด ไม่รก เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก
3. เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ดูแลไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
4. ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด
5. หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์
ทั้งนี้ หากสงสัยว่ามีอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน รวมถึงยาชุดมารับประทาน ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้