หลังจากผ่านพ้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นในการมาฝากครรภ์ครั้งแรกไปแล้ว ยังคงมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่รอคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามถึงผลของภาวะสุขภาพของคุณแม่และทารก และนี่คือ 3 การตรวจที่จำเป็นเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งต่อๆ ไป
การตรวจเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งต่อๆ ไป
1. การคัดกรองเบาหวาน จะทำในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเบาหวาน เช่น ประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว การคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม มีประวัติทารกตายคลอด หรือตายไม่ทราบสาเหตุ การตรวจทางห้องปฏิบัติการยึดตามแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นจะตรวจ 50 กรัม Glucose challenge test (GCT) หากพบว่ามีความผิดปกติจะตรวจยืนยันด้วย oral glucose tolerance test (OGTT) รายละเอียดดังนี้
1.1 การตรวจด้วย 50 กรัม Glucose Challenge test (GCT) จะตรวจเมื่อมีข้อบ่งชี้ต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรกและตรวจซ้ำเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หรือเมื่อมีน้ำตาลในปัสสาวะมากกว่า +1 หรือน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่า 3 กิโลกรัมต่อเดือน โดยการให้รับประทานกลูโคสขนาด 50 กรัมโดยไม่คำนึงถึงมื้ออาหารที่ผ่านมาหลังจากนั่น 1 ชั่วโมงเจาะเลือดดูระดับ Plasma glucose เท่ากับ 140 มก./ดล แสดงว่ามีความผิดปกติให้ตรวจด้วย 100 กรัม OGTT
1.2 การตรวจด้วย 100 กรัม Oral glucose tolerance test (OGTT) โดยต้องนัดสตรีตั้งครรภ์ล่วงหน้า 3 วัน และในระยะช่วงเวลาดังกล่าวแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์รับประทานคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 200 กรัม/วัน คืนก่อนวันตรวจต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน ก่อนเจาะเลือดให้สตรีตั้งครรภ์นั่งพักอย่างน้อย 30 นาที ต่อมาเจาะเลือดเพื่อดูค่า fasting blood sugar (FBS) ค่าปกติ≥ 105 mg/dl หลังจากนั่นให้สตรีตั้งครรภ์รับประทานกลูโคส 100 กรัม เจาะเลือดชั่วโมงที่ 1, 2, และ 3 ตามลำดับ
2. การตรวจปัสสาวะ สตรีตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจดูโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ (Urine Protein-Urine Glucose) ทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ มักจะตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ และในรายที่มีภาวะเบาหวานจะตรวจพบน้ำตาล (Glucose) ในปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตามในระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์น้ำตาลในปัสสาวะไม่ควรเกิน +1 และโปรตีนในปัสสาวะอาจพบได้เล็กน้อย (trace หรือ +1)
3. การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจางและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจเลือดนอกจากจะตรวจครั้งแรกเมื่อมาฝากครรภ์แล้ว แต่จะได้รับการตรวจซ้ำในไตรมาสที่ 3 เพื่อยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสโดยวิธี venereal disease research laboratory test (VDRL) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปยังทารก และป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความพิการในทารก สำหรับการตรวจคัดกรองภาวะซีดจะตรวจครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ในกรณีที่ค่าฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่า 11g/dl หรือน้อยกว่า 10.5 g/dl ควรส่งต่อแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะซีด
การตรวจประเมินภาวะสุขภาพมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยให้แพทย์ทราบถึงภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และเบบี๋ในครรภ์ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ