ระยะเวลาเก้าเดือนแรกของชีวิตในครรภ์ กระทั่งทารกน้อยลืมตามาดูโลก นับเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสมอง และการพัฒนาทางสติปัญญาในชีวิตของลูก
ว่าแต่… เหล่าคุณแม่รู้กันไหมคะว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งให้เกิดผลร้ายต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ ก็คือ “ความเครียดของคุณแม่ตั้งครรภ์”
การลดความเครียดในชีวิตประจำวันของคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะช่วยปกป้องเด็กน้อยในครรภ์ให้ปลอดภัย กล่าวคือ เมื่อสตรีมีครรภ์มีความเครียดหรือได้รับการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนออกมา
สารนี้สามารถถ่ายทอดจากมารดาผ่านทางรกเข้าไปยังกระแสเลือดของทารกในครรภ์ได้ สำหรับสัญญาณที่บอกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์เข้าข่ายมีความเครียด ได้แก่…
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
- รู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต
- หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ
- เบื่ออาหาร
- ร่างกายอ่อนเพลีย
หากมีความเครียดรุนแรงเป็นประจำต่อเนื่องทุกวัน เมื่อคุณแม่เครียด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียด เหล่านี้ก็อาจส่งผลให้คุณแม่มีโอกาสแท้ง คลอดลำบากหรือคลอดก่อนกำหนด และให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
ทารกที่หม่ามี้มีความเครียดในระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อโตขึ้นอาจเป็นเด็กที่หงุดหงิดง่าย เป็นไฮเปอร์ อาจมีความผิดปกติทางนิสัยการกิน การนอนและขับถ่าย มีปัญหาเรื่องปอด มีพัฒนาการที่ช้า มีปัญหาด้านการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น
นอกจากนี้จากผลการวิจัยของประเทศเดนมาร์กพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์กับความบกพร่องด้านพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ของลูกในช่วงวัยเด็ก
รู้อย่างนี้แล้วคุณแม่ที่มีน้องควรพยายามควบคุมไม่ให้มีความเครียดในชีวิตประจำวัน โดยหาวิธีผ่อนคลายความเครียดหรือกิจกรรมสนุกๆ ทำ เช่น นั่งสมาธิ ผ่อนลมหายใจ เล่นโยคะ ฟังเพลงคลาสสิก อ่านเรื่องขำขัน ที่สำคัญ คนรอบข้างจะต้องมีส่วนช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีความสุข ทั้งกายและใจ เพื่อทำให้ร่างกายปราศจากความเครียด จิตใจสงบ และเป็นสุข