ยังคงเป็นปัญหาระดับชาติที่น่าเป็นห่วง สำหรับถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยกลุ่มเสี่ยงอย่างหญิงตั้งครรภ์ยังคงต้องระมัดระวังตัวและดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจไม่ประมาท เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นโควิด-19 นอกจากจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปแล้วยังส่งผลกระทบต่อเบบี๋ได้
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าด้วยคุณแม่ตั้งครรภ์กับการป่วยโควิด-19 สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
1. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 ใน 3 มักไม่แสดงอาการ
2. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรงมักมีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ฯลฯ
3. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูก 2 – 5%
4. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด 15.1%
สำหรับอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดพบว่า อาการไม่ต่างจากคนทั่วไป เรียงลำดับจากพบมากไปหาน้อย ดังนี้
-ไม่มีอาการ คุณแม่งตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบเชื้อ
-ไอ เป็นอาการที่พบมากที่สุด พบเกินครึ่งหนึ่งของคนที่ติดเชื้อโควิด
-ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ พบร้อยละ 32- 42
-เจ็บคอ หายใจไม่อิ่ม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส พบร้อยละ 21- 38
-อื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล คัดจมูก พบน้อยกว่าร้อยละ 10
ความเสี่ยงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยโรคโควิด 19 ได้แก่ ครรภ์เป็นพิษ, คลอดก่อนกำหนด, เลือดแข็งตัวผิดปกติ, ทารกที่เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ, คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อน้อยกว่าทารกในครรภ์ที่คุณแม่ใกล้คลอด
อาการติดเชื้อโควิดในคุณแม่ตั้งครรภ์บางอย่างจะเหมือนอาการตั้งท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย คัดจมูก ทำให้แม่ท้องหลายคนละเลยที่จะมาพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม อาการแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์อีกหลายอย่างก็เหมือนการติดเชื้อโควิด เช่น อาการครรภ์เป็นพิษ ที่ทำให้ปวดหัว จุกแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ซึ่งต้องระวัง การมาพบแพทย์ช้าอาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก
คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดพบแพทย์ตามนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันโรคโควิด แม่ท้องต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือให้บ่อยด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ กินอาหารสุกสะอาด ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ที่สำคัญดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่เครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป รับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
หากคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการติดโควิด หรือมีอาการน่าสงสัย อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบตรวจโควิดไม่ว่าจะเป็นตรวจ Antigen test kit ด้วยตัวเอง หรือไปที่สถานพยาบาล เพื่อเข้าระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด