“รกเกาะต่ำ” สำรวจให้ไว ใครบ้างที่เสี่ยง?

0

“รก” เป็นอวัยวะมีเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ โดยเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างทารกในครรภ์กับมารดา ในสตรีตั้งครรภ์ปกติทั่วไป รกจะเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูก หากรกมาเกาะบริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือคลุมมาถึงด้านในของปากมดลูก เรียกว่า “รกเกาะต่ำ” ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ค่ะ

“ภาวะรกเกาะต่ำ” (Placenta Previa)

placenta-previa

แบ่งออกเป็น 4 ชนิด

  • รกคลุมปากมดลูกด้านในทั้งหมด
  • รกคลุมปากมดลูกบางส่วน
  • รกอยู่ขอบปากมดลูกด้านใน
  • ชายรกใกล้ปากมดลูกมากกว่า 2 ซม.

การที่รกเกาะต่ำ จะทำให้เกิดมีเลือดออกทางช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์ มักเกิดในช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7-8 เดือน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ

  1. ตั้งครรภ์หลายครั้ง เพราะในแต่ละครั้งจะต้องมีการสร้างรก รกที่สร้างขึ้นมักจะย้ายที่เกาะไปเรื่อยๆ เพราะตำแหน่งเดิมจะมีแผลเป็นและมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ รกจึงย้ายมาเกาะใกล้ปากมดลูกแทน
  2. มีการผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน ยิ่งผ่าตัดหลายครั้ง ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
  3. เคยผ่าตัดบริเวณมดลูกจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผ่าคลอด เช่น เนื้องอกมดลูก หรือเคยขูดมดลูก
  4. มดลูกรูปร่างผิดปกติ หรือรกมีความผิดปกติ ได้แก่ รกชนิดแผ่นใหญ่กว่าปกติหรือบางกว่าปกติ
  5. ตั้งครรภ์แฝดหรือเคยตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากรกจะมีขนาดใหญ่ เพราะต้องทำหน้าที่นำเอาสารอาหารมาเลี้ยงลูกมากกว่าปกติ การขยายใหญ่ของรกจึงอาจทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้
  6. เลือดไปเลี้ยงผนังมดลูกไม่ดี เช่น ผลจากการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน, แม่อายุมาก ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงสูง, แม่สูบบุหรี่จัด
  7. ทารกมีภาวะซีด ร่างกายแม่จึงพยายามเพิ่มออกซิเจนไปยังลูก ทำให้รกเพิ่มขนาด ขยายใหญ่ขึ้น รกจึงแผ่ขยายลงมาเกาะถึงด้านล่างของมดลูก เช่น ภาวะธาลัสซีเมีย
  8. ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง
  9. การติดเชื้อในครรภ์ เช่น ซิฟิลิส

สำหรับภาวะแทรกซ้อนในภาวะรกเกาะต่ำที่อาจพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ มีการเสียเลือดมาก จนเกิดภาวะซีด หรือช็อก, อาจต้องผ่าตัดคลอด, มีการตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี, รกเกาะลึกผิดปกติ อาจต้องตัดมดลูกหลังผ่าตัดคลอดทารกแล้ว ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบในทารกอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นเสียชีวิต หากคุณแม่เสียเลือดมาก และแพทย์ช่วยเหลือไม่ทัน

การป้องกันภาวะรกเกาะต่ำเป็นเรื่องที่ป้องกันยาก สิ่งที่พอจะทำได้ คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *