ผื่นกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน แม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายมากนัก แต่ก็สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยไม่น้อย เนื่องจากเกิดผื่นขึ้นทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเกิดผื่นกุหลาบในหญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้
โรคผื่นกุหลาบ หรือ โรคขุยดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) เป็นโรคผิวหนังมีอาการเฉียบพลัน ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อย โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-35 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 2:1 ผื่นมักเกิดอยู่นานประมาณ 6-8 สัปดาห์แล้วหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่า มีรายงานว่า การเกิดผื่นกุหลาบในผู้ป่วยตั้งครรภ์ เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งได้ โดยเฉพาะช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
ผื่นแรกมักเกิดขึ้นบริเวณลำตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจพบบริเวณคอ หรือ แขนขาส่วนบนได้ โดยมักจะเกิดนำผื่นอื่น ๆ เป็นชั่วโมงหรือวัน ลักษณะเป็นผื่นเป็นสีชมพู สีแซลมอน หรือสีน้ำตาล อาจจะมีขอบยกเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร แต่บางกรณีอาจมีขนาด 1 เซนติเมตร หรือใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร ตรงกลางของผื่นมีขุยขนาดเล็ก ขอบขยายใหญ่ขึ้น ผื่นมีรูปร่างกลมหรือรีและมักจะกระจายตามแนวร่องบนผิว คล้ายกับลักษณะของต้นสน
ประมาณ 5% ของคนไข้โรคผื่นกุหลาบ จะมีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อย อาจพบตุ่มหนองเล็ก ๆ ในช่วงแรกของโรค มักไม่พบผื่นบริเวณหน้า มือและเท้า อาการคันในโรคผื่นกุหลาบพบได้ประมาณ 25% โดยทั่วไปแล้ว ผื่นกุหลาบมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่หากรักษาผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ส่วนผู้ป่วยที่มีผิวสีคล้ำอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นหลังอาการผื่นขุยหายดีแล้ว
ผื่นกุหลาบมักไม่มีอาการแสดงและสามารถหายได้เอง โดยไม่ทิ้งร่องรอย การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ หรือ ยากินในกลุ่ม antihistamines สามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วงสั้น ๆ การฉายแสง UVB (Narrowband or broadband) สามารถช่วยควบคุมโรคได้
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างเคร่งครัดแล้ว มีข้อแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้นของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคผื่นกุหลาบ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนังและโรคมีอาการกำเริบ เช่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว การทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เพราะการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพราะสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อขึ้นได้ แนะนำให้อาบน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง
3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีการระบายอากาศที่ดี และไม่ระคายเคืองผิวหนัง
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีความเครียดสูงมักมีผื่นกำเริบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคผื่นกุหลาบโอกาสจะกลับมาเป็นโรคซ้ำอีกพบได้น้อยมาก เนื่องจากโรคนี้เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ถาวร