โรคเบาหวานถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ ที่น่ากลัว คือ สามารถเกิดโรคนี้ขึ้นได้ แม้ว่าก่อนตั้งครรภ์คุณแม่จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีภาวะเบาหวานมาก่อน ดังนั้น หากตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนค่ะ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เกิดจากรกสร้างฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลทำให้ฮอร์โมนของมารดาเกิดการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น จึงทำให้เกิดเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์
ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จะมีระดับนํ้าตาลเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ ระยะหลังคลอดส่วนใหญ่ระดับนํ้าตาลในเลือดจะกลับสู่ภาวะปกติ ถ้าติดตามผู้ป่วยไปนานๆ พบว่ามีโอกาสเป็นโรคเบาหวานในอนาคต 30-50% แต่สามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมนํ้าหนักตัวไม่ให้อ้วน และออกกำลังกายเสมอ
ด้าน นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์เหมือนอาหารคนตั้งครรภ์ทั่วไป คือรับประทานอาหาร 3 มื้อ และเพิ่มอาหารว่างอีก 3 มื้อในผู้ป่วยรูปร่างผอม ถ้าผู้ป่วยรูปร่างอ้วนควรรับประทานอาหาร 3 มื้อหลัก งดอาหารว่างหรืออาจมีมื้อก่อนนอน เพียงเล็กน้อย
แต่ที่สำคัญคือปริมาณอาหารต่อวัน และจำนวนอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้ง นํ้าตาล และผลไม้) ควบคุมให้เหมาะสมเลี่ยงของหวาน เพิ่มอาหารที่มีกากใย เพิ่มวิตามินที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กโฟลิกและแคลเซียม ส่วนการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญ เพราะจะช่วยลดภาวะดื้อยาต่ออินซูลิน ทำให้ความต้องการยาอินซูลินในการควบคุมนํ้าตาลน้อยลง
ดังนั้น จำเป็นต้องออกกำลังกายทุกรายถ้าไม่มีข้อห้าม เช่น ความดันโลหิตสูง ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร ชนิดของการออกกำลังกาย ไม่ควรเป็นไปเพื่อลดนํ้าหนักแต่อาจจะเป็นการเดินหลังอาหารแต่ละมื้อ ว่ายนํ้า หรือการบริหารร่างกายส่วนบน วันละประมาณ 30 นาที แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
เพราะเบาหวานอันตรายกว่าที่คิด คุณแม่ท้องจริงควรตระหนักและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงรับแนวทางและคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ