แม่ท้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมไร้ท่อ

0

ในช่วงตั้งครรภ์เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของแม่ท้องมากมาย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน ว่าแล้วเรามาเติมความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมไร้ท่อระหว่างตั้งครรภ์กันค่ะ

หนังสือ “โยคะสำหรับหญิงตั้งครรภ์” โดย สำนักการแพทย์ทางเลือก นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมไร้ท่อระหว่างตั้งครรภ์ สรุปความได้ดังนี้

mothers-with-changes-in-the-endocrine-system

  1. ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ในระหว่างตั้งครรภ์ ต่อมใต้สมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 1.35 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน การขยายขึ้นของต่อมใต้สมองอาจไปกดบริเวณ optic chiasma ทำให้บางรายมองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งสร้างจากกลีบหน้าของต่อมพิทูอิตารีจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin hormone) ซึ่งทำหน้าที่ในขบวนการผลิตน้ำนม จะเพิ่มขึ้นมากในระยะตั้งครรภ์ประมาณ 10 เท่าของคนปกติ และจะมีมากตลอดระยะเวลาที่ลูกดูดนม ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์โปรแลคตินจะถูกกดโดยโปรเจสเตอโรน ทำให้ไม่สามารถออกฤทธิ์ในการสร้างน้ำนมได้ ซึ่งเมื่อคลอดแล้วโปรเจสเตอโรนจะลดลง กระบวนการผลิตน้ำนมจึงเริ่มขึ้น
  1. ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) จะสร้างฮอร์โมน thyroxin เพิ่มขึ้น มีผลทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเพิ่มขึ้น 20% ระดับฮอร์โมน T4 จะเพิ่มขึ้นแต่ T3 ลดลง มีผลให้การเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น 25% ทำให้ชีพจรเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก ทนต่ออากาศร้อนได้น้อย
  1. ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid gland) ระดับของพลาสมาแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ลดลงจะไปกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ แต่ถ้าแคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มขึ้นจะทำให้ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ลดลง ซึ่งในไตรมาสแรกฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในพลาสมาจะลดลง แต่ระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นไปจนตลอดการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อช่วยรักษาระดับแคลเซียมให้แก่ทารกได้เพียงพอตลอดระยะตั้งครรภ์
  1. ตับอ่อน (pancreas) ในระยะแรก เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรก มีผลทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การผลิตฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นแต่ความสามารถในการใช้ลดลง เนื่องจากเป็นกลไกป้องกันการสะสมน้ำตาลกลูโคส จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์มีอาการคล้ายเบาหวานได้
  1. ต่อมหมวกไต (adrenal gland) ระหว่างตั้งครรภ์ ต่อมหมวกไตจะมีการผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นผลจากการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ท้องก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หากพบว่ามีความผิดปกติที่คุณแม่ส่วนใหญ่ไม่เป็นกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *