ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพื่อให้ดำเนินการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆ นี้ อาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่กวนใจคุณแม่ เช่น ระบบทางเดินอาหารที่เปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์มักทำให้เกิดอาการ “ท้องอืด” หรือ “ท้องผูก”
“ท้องอืดในแม่ท้อง”
สาเหตุเกิดจาก เมื่อมดลูกขยายตัวจากการเติบโตทารก จะเกิดการเบียดช่วงลำไส้ กระเพาะอาหาร รวมถึงกระบังลม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของคุณแม่ได้เปลี่ยนไป ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานช้าลง กลายเป็นเหลือเศษอาหารตกค้างและเกิดการบูดเสียขึ้น เมื่อรับประทานอาหาร คุณแม่จึงรู้สึกอึดอัดและแน่นท้องได้ง่าย
วิธีแก้ไขหรือป้องกัน
- รับประทานอาหารให้พอดีคำ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบกับการกินจนทำให้เกิดลมในกระเพาะ
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย งดเว้นอาหารที่ย่อยยาก เช่น อาหารมันๆ เนื้อสัตว์ที่มีชิ้นใหญ่ หรืออาหารที่3. จะทำให้เกิดแก๊สได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม เป็นต้น รวมถึงงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาเฟอีน
- ไม่ควรรับประทานอาหารให้อิ่มจนเกินไป ควรลดปริมาณอาหารแต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้ถี่ขึ้นแทน
- มื้อเย็นคุณแม่ควรรับประทานให้เร็วขึ้น โดยกะเวลาก่อนที่จะนอนประมาณ 4-5 ชั่วโมง
“ท้องผูกในแม่ท้อง”
สาเหตุเกิดจากการอุดกั้นของล้ำไส้ การเคลื่อนไหวที่ลดลง และการดูดซึมน้ำกลับเพิ่มขึ้นทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายลำบาก นอกจากนี้ ช่วงระยะใกล้คลอด การขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก จะกดทับมดลูกบนเส้นเลือดในช่องท้อง ขัดขวางการไหลเวียนของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ดังนั้น เมื่อคุณแม่ใช้แรงเบ่งมากเท่าไร เส้นเลือดบริเวณนี้ก็ยิ่งโป่งพองมากขึ้น อาจนำไปสู่อาการริดสีดวงทวารได้
วิธีแก้ไขหรือป้องกัน
- ดื่มน้ำให้มากพอกับความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นที่มีใยอาหาร
- ควรกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่ให้บ่อยขึ้น และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยระบบย่อยอาหาร
- ควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินสัก 10-15 นาทีในช่วงเช้า แล้วกลับมาดื่มน้ำอุ่นและนั่งพัก
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาชนิดของแคลเซียมที่รับประทานอยู่ เพราะอาจทำให้ท้องผูกได้
การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ถือเป็นวิธีสำคัญที่ช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการท้องอืดหรือท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ค่ะ ฉะนั้น ควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากๆ นะคะ