“แพ้ท้อง” เป็นอาการหรือความรู้สึกที่ไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์มากกว่าร้อยละ 80-90 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ หรือในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นจนเกิดภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด น้ำหนักตัวลดลง และขาดสารอาหารได้ ระดับของอาการแพ้ท้อง แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
ภาวะแพ้ท้องระดับเล็กน้อย
อาการ : คลื่นไส้หรือพะอืดพะอม วิงเวียนศีรษะ อาเจียนเป็นบางครั้ง เวียนศีรษะด้วยเล็กน้อย และรับประทานอาหารได้น้อยลง
วิธีรับมือ : มีหลายวิธีสามารถปรับใช้ให้เข้ากับตัวคุณแม่เองได้ เช่น ดื่มนมหรือเครื่องดื่มร้อนๆ หลังจากตื่นนอนตอนเช้า, เมื่อรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนให้จิบน้ำอุ่นหรือดื่มน้ำขิงอุ่นๆ, รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยได้ง่าย, รับประทานกล้วยหรือสับปะรดบรรเทาอาการแพ้ท้อง, อย่าปล่อยให้ท้องว่างให้รับประทานแครกเกอร์แบบเค็มหรือขนมปังกรอบธัญพืชสัก 1-2 ชิ้น หรืออาจอมลูกอมบ่อยๆ จิบน้ำหวาน น้ำผลไม้ทีละน้อยๆ บ่อยๆ
ภาวะแพ้ท้องระดับปานกลาง
อาการ : คลื่นไส้อาเจียน มักทานอะไรไม่ค่อยได้หรือทานอาหารไม่ได้เป็นช่วงๆ ปัสสาวะสีเข้ม ถึงจะพักผ่อนอย่างไรก็ไม่ช่วยทำให้มีอาการดีขึ้น
วิธีรับมือ : ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ดูแล โดยแพทย์อาจจะให้น้ำเกลือหรือฉีดกลูโคสเพื่อระงับอาการอ่อนเพลียจากการอาเจียน และอาจสั่งจ่ายยาระงับอาการคลื่นไส้ พร้อมกับแนะนำวิธีการปรับตัว
ภาวะแพ้ท้องมาก
หรือ ภาวะท้องอย่างแรง หรือ ภาวะแพ้ท้องขั้นรุนแรง
อาการ : อาเจียนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ เกิดภาวะขาดน้ำ เลือดเป็นกรด น้ำหนักตัวลดลง ขาดสารอาหาร รู้สึกหมดแรงและวิงเวียนศีรษะ ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน อาจทำให้เซลล์ตับตาย มีภาวะไขมันสะสมในตับ เกิดอาการดีซ่าน อาจมีภาวะเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ภาวะสิ่งหลุดอุดตันของเลือดแดงในปอด หรือมีภาวะหลอดอาหารทะลุหรือปอดทะลุ ไตวาย และภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง คือ อาจทำให้จอตาอักเสบและมีเลือดออก ทำให้ตาบอดได้
วิธีรับมือ : ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่ครรภ์แรกคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปคุณแม่อาจจะแพ้ท้องมาก แพ้ท้องปกติ หรือไม่แพ้ท้องเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ