“ท้องแข็ง” ถือเป็นอาการที่พบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์แทบทุกราย มักพบในผู้มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยคุณแม่จะรู้สึกปวดเกร็งบริเวณครรภ์ เมื่อเอามือไปจับจะรู้สึกว่า เป็นก้อนแข็งๆ ตึงๆ และรู้สึกปวดแบบเสียวๆ ท้องน้อยร่วมด้วย ไม่อยากผจญกับความรู้สึกไม่สบายตัวก็ต้องหาวิธีบรรเทาอาการนี้ค่ะ
วิธีบรรเทาอาการท้องแข็ง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ลดกิจกรรมที่อาจนำไปสู่อาการท้องแข็ง เช่น ไม่ทำงานหนัก ก้มยกของหนัก หรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการถูกกระตุ้นที่ผนังมดลูก
- ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะโป่งมากขึ้น และไปกดเบียดมดลูกจนมดลูกมีความดันสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่ท้องแข็ง นอกจากนี้หากกระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ จะกระตุ้นให้มดลูกแข็งตัวจนแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
- ไม่ควรขับรถเอง การขับรถเองในช่วงที่ท้องใหญ่ขึ้น คุณแม่จะต้องนั่งอยู่ในท่าที่หน้าท้องถูกกดทับ รถที่วิ่งๆ หยุดๆ จะทำให้ลูกกระแทกผนังมดลูกไปมา อาจทำให้เกิดการเจ็บท้องหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
- งดกิจกรรมทางเพศที่ผาดโผน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับลูกน้อย ทางที่ดีควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะไปกระตุ้นแถวบริเวณปากมดลูกทำให้มีการบีบตัวของมดลูก
- งดการกระตุ้นบริเวณเต้านมโดยเฉพาะบริเวณหัวนมขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะถ้าหัวนมแข็งชันขึ้นมาเมื่อไหร่ มดลูกก็อาจจะแข็งตัวตามมาได้เช่นกัน ส่วนคุณแม่มีลูกเล็กและกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรให้ลูกหย่านม เพราะการดูดนมแม่ จะส่งผลให้มดลูกบีบรัดตัวตามไปด้วย
- ลดปริมาณเนื้อสัตว์ ในกรณีที่ท้องแข็งเพราะมีแก๊สในกระเพาะ ควรหันมากินผักผลไม้เพื่อเพิ่มไฟเบอร์และดีต่อระบบขับถ่าย ลดการเกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้หายแน่นท้องได้
- ระมัดเรื่องการบิดขี้เกียจ เพราะจะทำให้ช่องท้องมีปริมาตรเล็กลง ความดันในมดลูกสูงขึ้น ท้องจึงแข็ง
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการท้องแข็งตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์หรือรู้สึกเจ็บท้องมากๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุจากเนื้องอกในมดลูกหรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ได้