บ่อยครั้งทีเดียวที่เวลาไปไหนมาไหนคุณแม่ท้องต้องเจอคำถามเรื่องอายุครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ท้องกี่เดือน? ใกล้คลอดหรือยัง? สำหรับหม่ามี้ที่วางแผนตั้งครรภ์เป็นอย่างดีคงไม่มีปัญหา แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจเกิดคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าอายุครรภ์เท่าไหร่? รวมถึงวิธีการนับอายุครรภ์ของเรานั้นถูกต้องแล้วหรือยัง?
การตั้งครรภ์ จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส
- ไตรมาสที่ 1 ได้แก่ สัปดาห์ที่ 1-สัปดาห์ที่ 13 (เริ่มปฏิสนธิ-เดือนที่ 3)
- ไตรมาสที่ 2 ได้แก่ สัปดาห์ที่ 14-สัปดาห์ที่ 27 (เดือนที่ 3-เดือนที่ 6)
- ไตรมาสที่ 3 ได้แก่ สัปดาห์ที่ 28-สัปดาห์ที่ 42 (เดือนที่ 6-เดือนที่ 9)
สำหรับการนับอายุครรภ์นั้นจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของแรกประจำเดือนครั้งล่าสุด และมีหน่วยการนับเป็นวันและสัปดาห์ (การบอกอายุครรภ์เป็นเดือนนั้นก็มาจากการนับสัปดาห์แล้วคำนวณเป็นเดือนนั่นเอง) ซึ่งสาเหตุที่ต้องนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ นั่นก็เป็นเพราะการนับอายุครรภ์แบบเป็นเดือน จะไม่มีความละเอียดเพียงพอ เนื่องจากจำนวนวันในแต่ละเดือนนั้นมีไม่เท่ากัน
โดยปกติแล้วอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน ซึ่งจะเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย (ไม่ใช่เริ่มนับจากวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน) หรือนับจากวันที่ประจำเดือนถึงกำหนดจะมาแต่ไม่มา
ในกรณีที่แม่ท้องจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไม่ได้ รวมถึงคุณแม่ท้องที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมีรอบเดือนนานกว่า 28 วัน จะนับอายุครรภ์ และคำนวณวันคลอดอย่างไร คำตอบคือ ให้คุณแม่ไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจภายใน และคาดคะเนตามขนาดของมดลูก ซึ่งก็จะเป็นการกำหนดวันคลอดอย่างคร่าวๆ ได้
หรืออีกวิธีก็คือ การทำอัลตราซาวด์ โดยเครื่องอัลตราซาวด์จะช่วยวัดขนาดความกว้างของหัวเด็กและความยาวของเด็กในครรภ์ เมื่อนำมาคำนวณก็จะบอกได้ว่า คุณแม่ตั้งครรภ์มาแล้วประมาณกี่สัปดาห์ อย่างไรก็ตามทั้งสองวิธีนี้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากที่คำนวณได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
อายุครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่แม่ท้องต้องใส่ใจ เพราะการทราบอายุครรภ์สามารถบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของเด็กทารกในครรภ์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยปัญหาสุขภาพของแม่ท้องได้อย่างทันท่วงทีค่ะ