ภาวะครรภ์เสี่ยง หรือ ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยง เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้ว
ทารกแรกเกิดอาจมีความผิดปกติ หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงดังต่อไปนี้
1. อายุของคุณแม่
• ตั้งครรภ์โดยที่มีอายุน้อยกว่า 17 ปี คุณแม่ที่อายุน้อย จะมีความเสี่ยง เช่น การเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด, ลูกตัวเล็ก, ความดันเลือดสูงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ ครรภ์เป็นพิษ, โรคซึมเศร้าหลังตั้งครรภ์ เป็นต้น
• ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี คุณแม่ที่อายุมาก ก็จะพบความเสี่ยงที่มากกว่า เช่น การแท้ง, โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์, ครรภ์เป็นพิษ, ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทางรก เช่น ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
2. คุณแม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ
• เคยมีทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตเมื่อแรกเกิด
• เคยแท้งเอง มากกว่า 3 ครั้งติดต่อกัน
• ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4000 กรัม
• มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (มีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 1 อาการ น้ำหนักตัว เพิ่มขึ้น, บวม, ปวดศีรษะ, ความดันโลหิตสูง, จุกแน่นใต้ชายโครง, ลูกดิ้นน้อยลง และท้องไม่โตตามอายุครรภ์) ในท้องก่อนหน้า
• เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
• มีประวัติตั้งครรภ์แฝด ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกเสื่อม ภาวะน้ำคร่ำน้อย
3. คุณแม่มีโรคประจำตัว หรือมีปัญหาสุขภาพ
โรคประจำตัวของคุณแม่มีผลต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ โดยโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพอาจทำให้การตั้งครรภ์แย่ลงมีภาวะแทรกซ้อน หรือการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลงหรือควบคุมได้ยากขึ้น สำหรับโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพที่อาจนำไปสู่ภาวะครรภ์เสี่ยง ได้แก่
• โรคความดันโลหิตสูง ภาวะนี้มีอันตรายและสามารถทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้
• โรคเบาหวาน โดยอันตรายของโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ อาทิ ครรภ์เป็นพิษ ติดเชื้อของกรวยไต การเกิดความดันโลหิตสูง ทารกมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทารกมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
• โรคหอบหืด โดยภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้
• โรคตับ โดยอาจเกิดการคลอดก่อนกำหนด การตกเลือดภายหลังคลอด และทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
• โรคไต โดยอาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ เสี่ยงต่อการแท้ง ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง ทารกมีการเจริญเติบโต
• โรคหัวใจ โดยคุณแม่อาจจะเกิดภาวะหัวใจวายได้ ในขณะที่ลูกในครรภ์ก็มักจะมีการเจริญเติบโตไม่ค่อยดี
• โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่นโรคเอดส์ โรคเริม โรคซิฟิลิส เป็นต้น
4. พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณแม่
• ดื่มเหล้า โดยอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การแท้ง ทารกพิการแต่กำเนิด หรือมีผลต่อพัฒนาการของทารก
• ติดยาเสพติด หรือใช้สารเสพติดอื่นๆ โดยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงตกเลือดอย่างรุนแรง
ภาวะครรภ์เสี่ยงมีอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกเป็นอย่างมาก ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ด้วยการไปพบแพทย์ รวมถึงไปฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด