โรคริดสีดวงทวารหนัก คือ ภาวะหลอดเลือดดำที่ทวารหนักปูด และผนังหลอดเลือดปริแตกในขณะขับถ่ายอุจจาระ จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว อาจมีหัวเดียวหรือหลายหัว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย อย่างไรก็ตามหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่มักมีอาการริดสีดวงก็คือ “หญิงตั้งครรภ์”
ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์มักเป็นริดสีดวงทวาร?
1. มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะไปกดหลอดเลือดดำในช่องท้องทำให้หลอดเลือดดำที่อยู่ปลายทาง เช่น บริเวณเท้า ขา และก้น มีการไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจยากขึ้น จึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดในบริเวณเหล่านั้นขึ้นได้ การคั่งของเลือดที่กระจุกเลือดที่บริเวณทวารหนัก ก็คือริดสีดวงทวารนั่นเอง
2. เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาหลายชนิด ซึ่งฮอร์โมนต่าง ๆ นี้ ส่วนมากจะทำให้หลอดเลือดดำมีการขยายตัวมากขึ้น เป็นผลให้ไปเพิ่มการคั่งของเลือดมากขึ้นไปอีก
3. อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการริดสีดวงทวารขึ้นได้ เนื่องจากหลอดเลือดที่โป่งพองมักจะพบในคนที่ท้องผูก เวลาที่คุณแม่ท้องผูกแล้วต้องเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระทำให้ต้องใช้แรงเบ่งมาก
4. การนั่ง หรือยืนนาน ๆ ก็เป็นผลให้เลือดจะไปรวมอยู่ตรงส่วนที่ต่ำของร่างกายที่เกิดจากแรงโน้มถ่วง จึงทำให้เลือดไปคั่งที่เท้าทำให้เกิดอาการเท้าบวม หรือเส้นเลือดขอดขึ้นได้ ส่วนตรงบริเวณทวารหนักก็ทำให้เกิดอาการริดสีดวงทวารขึ้นมาได้
รับมือริดสีดวงทวารอย่างไรให้ปลอดภัย?
– ประคบเย็นตรงบริเวณก้อนริดสีดวงด้วยแผ่นผ้าหรือแผ่นเจลประคบ ความเย็นจะช่วยทำให้หลอดเลือดมีการหดรัดตัว ทำให้ขนาดของริดสีดวงเล็กลงได้
– นั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น เป็นเวลา 15-30 นาที ควรนั่งทั้งตอนก่อนขับถ่ายอุจจาระและหลังขับถ่ายอุจจาระ จะช่วยลดความเจ็บปวดตรงบริเวณทวารหนักได้ดี และช่วยให้การไหลเวียนเลือดสะดวกมากขึ้น
– ใช้ครีมทาลดการอักเสบและโป่งพอง (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์)
– เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ผลไม้จำพวกส้ม สับปะรด แอปเปิล แก้วมังกร เป็นต้น
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ประมาณ 8-10 แก้ว/วัน) เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย
– ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น รวมถึงหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระแรง ๆ ด้วย
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมตามอายุครรภ์ จะช่วยทำให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหว ส่งผลให้ระบบการขับถ่ายดี
อย่างไรก็ตาม ภาวะริดสีดวงทวารไม่เป็นอันตรายใด ๆ กับการตั้งครรภ์ และไม่มีผลกับทารกในครรภ์ แต่มักจะทำให้เกิดความรำคาญต่าง ๆ เช่น คันก้น เจ็บและมีเลือดติดปนเวลาขับถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจมีอาการซีดได้ นอกจากนี้ หากคุณแม่เป็นริดสีดวงในช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 และจำเป็นต้องผ่าตัดเอาริดสีดวงออก คุณหมออาจพิจารณาให้ใช้วิธีผ่าคลอดแทน เพราะการคลอดธรรมชาติอาจไปกระทบกับแผลผ่าตัดริดสีดวงได้
ดังนั้น หากพบว่าเป็นริดสีดวงในขณะตั้งครรภ์ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการ และแนะนำการดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวงในขณะตั้งครรภ์อย่างถูกวิธี