รวมเคล็ดลับขจัดปัญหา “กรดไหลย้อน” ช่วงตั้งครรภ์

0

อาการกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์ มักมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารคลายตัวบ่อยกว่าปกติ ประกอบกับมดลูกขยายใหญ่ขึ้นและเบียดกระเพาะไปอยู่ตำแหน่งสูงขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคือง เจ็บ แสบร้อนบริเวณหน้าอก

เคล็ดลับขจัดปัญหา “กรดไหลย้อน” ช่วงตั้งครรภ์

1. แบ่งรับรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้ง และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา รับประทานอย่างช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน

2. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีน้ำมันมากทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลงเพราะไขมันช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารมากขึ้นไปอีก

3. หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด อาหารรสเปรี้ยว อาหารหมักดอง อาหารและเครื่องดื่มที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ ช็อคโกแลต อาหารที่มีส่วนผสมของมิ้นท์ รวมทั้งคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

4. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จและในช่วงระหว่างมื้ออาหารแต่ละมื้อแทน

5. หลีกเลี่ยงการงอและก้มหลังการรับประทานอาหาร

6. ไม่นอนหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ควรนั่ง ยืน หรือลุกเดินย่อยอาหารก่อน เผื่อเวลาให้อาหารย่อยประมาณ 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน เนื่องจากหลังรับประทานอาหารน้ำย่อยในกระเพาะยังทำงานอยู่ น้ำย่อยมีฤทธิ์เป็นกรดจะเข้าไปกัดเนื้อเยื่อของหลอดอาหารจนทำให้แสบร้อนและปวดแน่นที่หน้าอกได้

7. ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร และควรนอนตะแคงซ้าย หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงขวาเพราะจะทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหาร

8. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ ใส่แล้วรู้สึกสบายตัว เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

9. ควบคุมน้ำหนัก การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้

10. ทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะความเครียดก็สามารถทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เมื่อไหร่ที่มีความเครียด ร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งออกมามากขึ้น

แม้อาการกรดไหลย้อนอาจสร้างความไม่สบายให้กับคุณแม่ แต่ความเจ็บป่วยเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ และเหล่านี้จะหายไปหรือลดลงหลังการคลอด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *