สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์..รู้ไว้แล้วไปใช้ ไม่เสียโอกาส

0

แม่ท้องหลายท่านอาจไม่ทราบว่า คุณสามารถเข้ารับบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหลายอย่างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต ในระยะยาวได้ อยากรู้ว่า สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง เราลิสต์มาให้แล้ว

สิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีดังนี้

1. ทดสอบการตั้งครรภ์

หญิงที่ประจำเดือนขาด คลื่นไส้อาเจียนหรือแพ้ท้อง อาจซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (Pregnancy Test) มาทดสอบเองได้ หรือไปตรวจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ที่หน่วยบริการประจำหรือเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ ที่ลงทะเบียนไว้ หากตั้งครรภ์จริงจะได้รับคำแนะนำให้รับบริการดูแลการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่าฝากครรภ์

2. ตรวจครรภ์ ประเมินความเสี่ยง ประเมิน สุขภาพจิต ตรวจอัลตร้าชาวด์ ตรวจปัสสาวะหาการติดเชื้อแบคทีเรีย, โปรตีน, น้ำตาล

ในการดูแลการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง แพทย์และหรือพยาบาลจะทำการซักถามประวัติอาการและอาการแสดง ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจครรภ์ รวมถึงการซักประวัติและประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เพื่อพิจารณาให้การดูแลตามปกติหรือต้องให้การดูแลเป็นพิเศษหากมีความเสี่ยงสูงหรือพิจารณาส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่เข้ารับบริการดูแลครรภ์เพื่อตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ไข่ขาวและน้ำตาล การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ จำนวนทารก

3. ตรวจเลือดคัดกรองภาวะชีด ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ตรวจซิฟิลิส เอซไอวี ตับอักเสบบี

ในการบริการดูแลครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งที่สองจะมีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจนับเม็ดเลือดหรือ CBC ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และตับอักเสบบี มากไปกว่านั้นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองภาวะชีด โรคธาลัสซีเมีย และภาวะดาวน์ซินโดรม สำหรับการตรวจดาวน์ซินโดรม จะต้องรอให้มีอายุครรภ์ประมาณ 13-20 สัปดาห์ เพราะวิธีการตรวจที่ใช้เหมาะสมกับช่วงอายุครรภ์นี้

4. การคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิส

ในกรณีที่พบว่าทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก็มีทางเลือกให้กับมารดาได้ว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยมีสิทธิประโยชน์ในการยุติการตั้งครรภ์รองรับ ซึ่งขั้นตอนต่อไปแพทย์ก็จะมีคำแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยการเจาะน้ำคร่ำ หรือเจาะเลือดจากสายสะดือ หรือตัดเยื่อรก เพื่อส่งตัวอย่างตรวจยืนยันต่อไป

5. ตรวจช่องปากและฟัน

ในกรณีที่มารดามีหินน้ำลายจะได้รับการขูดหรือขัดทำความสะอาดฟันและช่องปาก จะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย

6. ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเมื่อมารดามีอายุครรภ์เกิน 4 เดือนขึ้นไป และการฉีดวัคซีนคอตีบบาดทะยักเพื่อป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด สำหรับวัคซีนบาดทะยักถ้าไม่เคยฉีดมาในระยะ 10 ปี หรือไม่เคยฉีดเลยก็จะฉีดให้ 3 เข็มจนครบ หากฉีดมาบ้างแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าควรฉีด 1-2 เข็มตามคำแนะนำการให้วัคซีน

7. ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน

หญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาเสริมวิตามินธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีน ซึ่งอาจรวมเป็นเม็ดเดียวกันในชื่อยาไตรเฟอร์ดีน (Triferdine) มารดาจะได้รับยาดังกล่าวตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเม็ดเลือดให้กับมารดา และเพิ่มสารไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กทารก

8. การคัดกรองธาลัสซีเมีย การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิสก็ยังให้สิทธิแก่สามีด้วย ถ้าสามีและภรรยามีผลการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียเป็นบวกทั้งคู่ก็จะต้องตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งก็จะได้สิทธิตรวจฮีโมโกลบิน ชนิดและปริมาณของฮีโมโกลบินจะบ่งบอกว่าเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่ หากผลออกมาแล้วพบว่ายังเป็นบวกทั้งคู่ก็แสดงว่าเป็นคู่เสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดมามีแนวโน้มเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ได้แก่ เบต้า/เบต้า เบต้า/อี หรือเป็นครรภ์น้ำจนเด็กเสียชีวิตในท้อง

ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ไปที่ กระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) หรือแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ ไปที่ กระเป๋าสุขภาพ เพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ตนเองสิทธิได้รับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *