หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการที่ได้เห็นลูกน้อยลืมตาดูโลกจะทำให้หลังจากนั้นชีวิตของคุณแม่มือใหม่จะต้องเปี่ยมด้วยความสุขสดชื่น แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้าหลังคลอด ถือเป็นเรื่องปกติที่พบบ่อยสำหรับผู้หญิงหลังคลอด ฉะนั้นการทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่และคนใกล้ชิดค่ะ
ข้อมูลจาก นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า…
กลุ่มแม่หลังคลอดเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดพบสูงถึง ร้อยละ 16.8 หญิงหลังคลอดมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ
ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ สุขภาพมารดา ความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส ความเพียงพอของรายได้ และความกดดันทางสังคมของเพศหญิง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักมีอาการรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทารก โดยเฉพาะด้านภาษา
หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะมีปัญหาในการเลี้ยงดูบุตร เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ขาดพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ขาดการแสดงความรัก รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น การใช้อารมณ์กับบุตร โดยพบถึงร้อยละ 41 ที่มีความคิดทำร้ายลูก การช่วยเหลือแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตั้งแต่เริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในอนาคต โดยเฉพาะด้านภาษา
การสังเกตแม่หลังคลอดที่เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า สามารถสังเกตได้จากมีอาการเซื่องซึมง่าย เศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย อารมณ์จะขึ้น – ลง เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลไปหมด ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ฯลฯ หากอาการเป็นอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้
ในการดูแลช่วยเหลือ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือจากคนใกล้ชิด ทั้งจาก พ่อ แม่ และสามีที่ต้องคอยให้กำลังใจว่า ภาวะที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรค ไม่ใช่ความอ่อนแอ ภาวะนี้สามารถพบได้และจะหายไป ซึ่งคุณพ่อควรผลัดเปลี่ยนกันดูแลลูก เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ลดปัญหาการนอนไม่หลับ
ที่สำคัญไม่ควรตำหนิ หรือโมโห เวลาคุณแม่แสดงอารมณ์แปลกๆ ขึ้นๆ ลงๆ อย่าปล่อยให้เลี้ยงลูกคนเดียว ต้องช่วยกัน สนับสนุนกัน เป็นกำลังใจให้กัน อดทนและเข้าใจกันนะคะ