การเลือกใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกเหนือไปจากประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาแล้ว ความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงไม่ด้อยไปกว่ากัน เนื่องจากยาบางชนิดหลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายของคุณแม่แล้วสามารถเดินทางผ่านรกไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย
โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีการพัฒนารูปร่าง และสร้างอวัยวะต่างๆ การได้รับยาที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อการพัฒนาของทารก รวมถึงอาจทำให้ทารกเกิดความพิการทางรูปร่างได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยาทุกชนิดหรอกนะคะที่ห้ามใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์
ยาที่มีการห้ามใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ คือ ยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม Category X
ยาในกลุ่มนี้มีข้อมูลพบว่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ตัวอย่างยาที่ห้ามใช้ เช่น
- กลุ่มยาลดไขมันในเลือด เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin) อะทอวาสแตติน (atorvastatin) โรซูวาสแตติน (rosuvastatin)
- ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนที่มีเออร์โกตามีน (ergotamine) เป็นตัวยาสำคัญ
- ยาที่มีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวยาสำคัญ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นต้น
- ยาวาร์ฟาริน (warfarin) ที่ใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด ยาไอโสเตรตติโนอิน (sotretinoin) ที่ใช้รักษาสิว ทั้งชนิดรับประทนาและทาภายนอก
แล้วยาบำรุงครรภ์ล่ะ… จำเป็นหรือไม่
เมื่อไปฝากครรภ์ คุณหมอจะให้ยาบำรุงครรภ์ ซึ่งเป็นยาที่จำเป็น เพื่อช่วยป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ และช่วยเสริมสร้างร่างกายของทารกให้สมบูรณ์ ยาเหล่านี้ ได้แก่ วิตามินบี กรดโฟลิก (folic acid) เหล็ก แคลเซียม หากคุณแม่สุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงและร่างกายสามารถสร้างแร่ธาตุและสารอาหารที่สำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ได้เพียงพอทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ การไม่รับประทานยาบำรุงครรภ์ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่สำหรับคนทั่วๆ ไปที่อาจขาดสารอาหารบางชนิด การรับประทานยาบำรุงครรภ์อย่าสม่ำเสมอก็คงเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ ได้เป็นอย่างดีค่ะ
ดังนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานยาให้น้อยที่สุด แต่หากจำเป็นต้องรับประทานยา หรือมีข้อสงสัยในการใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งมารดาและลูกน้อยในครรภ์นะคะ