ภาวะตั้งครรภ์คุณแม่ท้องต้องแบกรับอะไรหลายๆ อย่าง อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่อาจสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจกับคุณแม่ จนนำมาซึ่ง “ภาวะหรือโรคซึมเศร้าในคนท้อง” นอกจากจะทำร้ายสุขภาพของตัวคุณแม่เองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ในเคสที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
“โรคซึมเศร้าในคนท้อง”
มักจะถูกมองข้ามหรือละเลยเพราะคิดว่าเป็นอาการอารมณ์แปรปรวนของคนท้องที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้วโรคซึมเศร้ามักเกิดจากความเครียด ความกดดันในชีวิต ใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียด ผ่านการเลี้ยงดูที่ตึงเครียด มีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้าเคยเกิดขึ้นในครอบครัวหรือกับตัวเอง รวมถึงมาจากสาเหตุใหญ่ ๆ เช่น ขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนใกล้ชิดในครอบครัว มีปัญหารุนแรงภายในครอบครัว มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้วิตกกังวล กังวลว่าจะแท้งลูก อายุน้อยไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
สัญญาณที่บอกว่าคุณแม่ท้องเข้าข่ายป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ได้แก่…
- มีความรู้สึกเศร้า เสียใจ ไร้ค่า และสิ้นหวัง
- ไม่มีสมาธิในกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ
- หงุดหงิดฉุนเฉียว และจิตใจไม่สงบ
- ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
- นอนไม่หลับหรือนอนมากจนเกินไป
- เหนื่อยล้า
- ไม่อยากกินอาหารหรือกินอาหารมากเกินไป
- อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ
โดยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงมักจะมีความคิดด้านลบเกี่ยวกับตัวเองเสมอถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
ผลกระทบของโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเต็มที่หรือเพียงพอต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์, ความเครียดและความเศร้าอาจทำให้คุณแม่อาจหาทางออกด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือซื้อยามารับประทานเอง, เกิดความเครียด ความวิตกกังวลมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตาย ส่งผลให้มีอารมณ์เศร้าหลังคลอดตามมาด้วย อาจคลอดก่อนกำหนด ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือมีพัฒนาการผิดปกติร่างกายไม่แข็งแรง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ แต่ไม่ควรปล่อยไว้จนอาการหนักค่ะ เพราะอาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน ฉะนั้นคุณพ่อและครอบครัวควรสังเกตอาการคุณแม่ตั้งครรภ์ หากพบว่ามีความเสี่ยงควรรีบพาไปพบแพทย์