เราทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย ยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ขอบอกว่าการเลือกรับประทานอาหารมีความสำคัญอย่างมาก เพราะลูกน้อยจะเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คืออาหารจากแม่ ว่าแล้วเรามาเติมความรู้เกี่ยวกับอาหารของ “คุณแม่ตั้งครรภ์” กันค่ะ
หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งแต่ละช่วงเดือนร่างกายจะต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ดังนี้
ช่วง 1 – 3 เดือนแรก
ให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีเครื่องเทศมาก หากแพ้ท้องมากจนทำให้กินอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้อกินให้บ่อยยิ่งขึ้น
ช่วงตั้งครรภ์ 4 – 6 เดือน
ควรกินอาหารมากขึ้นโดยกินอาหารให้หลากหลาย เพราะในระยะนี้ลูกน้อยก็กำลังสร้างอวัยวะต่างๆ สารอาหารที่เพียงพอ จะไปช่วยเพิ่มขนาดของอวัยวะที่ทารกกำลังเจริญเติบโต และมากพอที่จะทำให้สุขภาพของแม่แข็งแรงอยู่ได้
ช่วง 4 – 6 เดือน
ร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรีต่อวัน และต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นจากปกติ ควรเพิ่มธาตุเหล็กเพื่อใช้ในสร้างเม็ดเลือดและโฟเลตในการป้องกันความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ เพิ่มแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน กินอาหารที่เป็นแหล่งไอโอดีนที่ช่วยในการพัฒนาระบบประสาท และการเจริญเติบโตของเซลล์สมองให้สมบูรณ์ และดื่มน้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ช่วง 7 – 9 เดือน
ร่างกายยังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรีต่อวัน หรือเท่ากับอาหาร 1 มื้อ หรืออาจเพิ่มเป็นอาหารว่าง 2 มื้อ ในช่วงนี้ควรติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตกับทารก
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว และเลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ปรุงสุกใหม่ๆ เพราะพลังงานและสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญต่อลูก
นอกจากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอแล้ว คุณแม่ควรผ่อนคลายไม่เครียด เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของตนเองและลูกน้อยค่ะ