ในระหว่างการตั้งครรภ์ “เต้านม” ของคุณผู้หญิงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ที่คุณควรรู้เพื่อการตั้งรับและปรับตัวให้ถูกวิธีค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเมื่อตั้งครรภ์
- ขนาดของเต้านมจะใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการสร้างน้ำนม
- อิทธิพลจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะทำให้สีผิวบริเวณลานเต้านม (Areolar) เข้มขึ้นและมีลักษณะไม่เรียบเนื่องจากมีต่อมไขมันอยู่มาก
- ถ้ามีการผลิตไขออกมามากเกินไป อาจทำให้เกิดการคั่ง ลักษณะเหมือนสิวที่เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้า ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ
- ไม่ควรบีบไขบริเวณเต้านมทิ้ง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือการติดเชื้อได้
- บริเวณหัวนม (Nipple) อาจเห็นรูเปิดเล็กๆ 15-20 รู ซึ่งก็คือท่อน้ำนมนั่นเอง
- ปกติการสร้างน้ำนมจะเริ่มสร้างประมาณ 1-2 วันหลังคลอด
- ปริมาณการสร้างจะมากขึ้นเมื่อลูกมาดูดกระตุ้น
- เมื่อลูกดูดนม ร่างกายหลั่งสารกระตุ้นการสร้างน้ำนม (Prolactin) ออกมากระตุ้นการสร้างน้ำนม และยังหลั่งสาร Oxytocin ออกมาเพื่อช่วยในการบีบรัดตัวของมดลูก ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด และการที่มดลูกหดตัวทำให้กลับเข้าอู่เร็วขึ้น
- คุณแม่บางรายที่เริ่มมีน้ำนม ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 แต่ไม่ควรบีบ หรือปั๊มกระตุ้น เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัว เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
รู้ไว้ใช่ว่านะคะ คุณแม่ขา…