การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้พักผ่อน รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่เกิดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ ตลอดจนเป็นระยะที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูล และจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ ทำให้สมองเกิดการจดจำและมีพัฒนาการ ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่แม่ท้องต้องใส่ใจค่ะ
การนอนหลับถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมพัฒนาการและสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อและร่างกายที่สึกหรอจากการใช้งานระหว่างวัน หากนอนหลับไม่เพียงพออาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท การคิด ความจำ
แม่ท้องควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน นอนหลับอย่างต่อเนื่องตลอดคืนเพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมา เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อและร่างกายที่สึกหรอจากการใช้งานระหว่างวัน นอกจากนี้แม่ท้องควรนอนตะแคง ไม่ควรนอนหงาย เพื่อป้องกันภาวะกรดไหลย้อน และมดลูกจะกดเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการขาบวมได้ และไม่ควรนอนคว่ำ เพราะจะทับท้อง
9 วิธีช่วยให้นอนหลับเพียงพอ
- เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนดึกมาก ควรเข้านอนก่อนเวลา 22.00 น. และปฏิบัติให้เป็นประจำ รวมถึงตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน รวมทั้งช่วงวันหยุดด้วย
- เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมที่จะนอน คือเมื่อรู้สึกง่วง และไม่ได้อยู่ในภาวะตึงเครียด อย่าพยายามฝืนนอนหากไม่ง่วง
- ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนนอนด้วยการอาบน้ำอุ่น เดินเบา ๆ ไปมา หรือการนั่งสมาธิ และไม่ควรทำกิจกรรมที่กระตุ้นร่างกายและสมองไปจนถึงเวลาเข้านอน
- จัดระเบียบห้องนอนและกำจัดสิ่งรบกวนด้วยการปิดไฟและอุปกรณ์ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ก่อนนอน (บางคนอาจต้องเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศทำให้หลับสบายขึ้น)
- หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก อาหารที่มีรสเผ็ด รสจัด หรืออาหารหวานมาก ก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมง เพราะร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ในการย่อยอาหาร
- หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นประสาท 4 – 6 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน
- เลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะจะทำให้หลับยาก ตื่นบ่อย และฝันร้าย เนื่องจากผลของสารนิโคติน
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบปัญหานอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ติดต่อกันหลายคืน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้นอนหลับสนิทได้ดีขึ้นค่ะ