ตลอดช่วงระยะตั้งครรภ์สามารถเกิดอันตรายกับคุณแม่และลูกน้อยได้ตลอดเวลา ทั้งจากภายนอก เช่นอุบัติเหตุต่างๆ และภายได้ ได้แก่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ บางรายอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายกันค่ะ
ครรภ์เป็นพิษ
เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูง (มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) ร่วมกับมีโปรตีนไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ จะทำให้ มีอาการบวมที่หน้า มือ ขา เท้า บางคนปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจชัก เส้นเลือดในสมองแตก อาจทำให้เสียชีวิต เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย
ทั้งนี้สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์แฝด คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาควบคุมความดัน ยาป้องกันการชัก ยุติการตั้งครรภ์ในเวลาที่เหมาะสม เฝ้าระวังด้วยการตรวจวัดความดันและตรวจปัสสาวะสม่ำเสมอ
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy)
เป็นความผิดปกติ ระหว่างปฏิสนธิ ไม่ได้เป็นตัวอ่อนแต่กลายเป็นถุงน้ำเล็กๆ มีลักษณะเหมือนไข่ปลาจำนวนมาก อยู่ในถุงน้ำ เนื่องมาจากไข่ของฝ่ายหญิงไม่มีโครโมโซมเพศ ทำให้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ตกเลือด และอาจช็อกหมดสติ ทั้งนี้สาเหตุ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงจาก สตรีตั้งครรภ์อายุมาก สูบบุหรี่ ตั้งครรภ์แรก เป็นต้น รักษาได้ด้วยการให้ยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการใช้เครื่องดูดออกหรือขูดมดลูก
ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa)
เป็นภาวะที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ มีบางส่วนของรกปิดบริเวณปากมดลูก ซึ่งโดยปกติรกจะเกาะที่ส่วนบนของมดลูก ทำให้มีการเสียเลือด มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงเกิดได้จากคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี เคยขูดมดลูก เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ตั้งครรภ์แฝด ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ โดยสามารถทำการรักษาได้ ถ้าหากเลือดออกไม่มาก โดยให้พักผ่อน งดทำงานหนัก ให้ธาตุเหล็ก หรืออาจต้องผ่าตัดทำคลอดในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอดค่ะ
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เป็นภาวะที่แม่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เนื่องจากฮอร์โมนจากรกมีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ มีผลทำให้ ทารกมีรูปร่างอ้วนใหญ่ คลอดยาก เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด บางรายทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทารกตัวเล็กกว่าปกติ อาจเสียชีวิตในครรภ์ได้ ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ คุณแม่มีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ เป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ เคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม มีความดันโลหิตสูง มีญาติเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งการรักษาที่ทำได้ ก็คือ การควบคุมอาหาร การให้อินซูลิน ตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด
เมื่อรู้จักภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้แล้วคุณแม่ต้องรู้จักดูแลสุขภาพร่างกายและสังเกตความผิดปกติของตนเอง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ รีบฝากครรภ์ ไปตามกำหนดนัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างสม่ำเสมอนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปควรมีการตรวจสุขภาพและปรึกษาคุณหมอก่อนการตั้งครรภ์และ/หรือในระหว่างตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิดค่ะ