หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เจาะน้ำคร่ำ” ผ่านหูผ่านตามาบ้าง โดยเฉพาะหากประเด็นนั้นเกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ของเบบี๋ในครรภ์
- ว่าแล้วเรามาทำความรู้จักว่า “การเจาะน้ำคร่ำ” คืออะไร
- พร้อมเช็คความเสี่ยงกันค่ะว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดบ้างที่ควร “เจาะน้ำคร่ำ”
“น้ำคร่ำ”
คือของเหลว ใส สีเหลืองอ่อนที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ ส่วนประกอบของน้ำคร่ำประกอบไปด้วยน้ำประมาณ 98% และสารต่างๆ อีกประมาณ 2% ซึ่งจะมีเซลล์ของทารกที่หลุดออกมาปนอยู่ด้วย ด้วยความก้าวน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถเจาะดูดเอาเซลล์เหล่านี้มาทำการเพาะเลี้ยง แล้วมาศึกษาดูโครโมโซม หรือพันธุกรรม เพื่อจะค้นหาว่ามีความผิดปกติ ความพิการในทารกที่อยู่ในครรภ์
การเจาะน้ำคร่ำจะกระทำได้ก็เมื่อตั้งครรภ์ประมาณ 4 เดือน แล้วนำมาเข้ากระบวนการทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นตัวช่วยในการเจาะหลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่แล้ว ใช้เข็มเจาะผ่านผนังหน้าท้องมารดา ผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกในตำแหน่งที่ปลอดภัย แล้วดูดน้ำคร่ำออกมาตรวจ ซึ่งใช้เวลาภายใน 2 สัปดาห์ ก็จะทราบผลการตรวจ
ข้อบ่งชี้อะไรบ้าง…
ที่ทำให้คุณแม่ต้องรับการตรวจโดยวิธีการเจาะน้ำคร่ำ
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก คืออายุ 35 ปีขึ้นไป
- คุณแม่เคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือพิการ
- คุณแม่ที่มีผลการตรวจเลือดพบว่าผิดปกติ
- คุณแม่มีประวัติแท้งบ่อย
- แพทย์ตรวจพบความพิการภายนอกของทารก จากการตรวจอัลตราซาวด์
- ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าผิดปกติ
ทั้งนี้ การเจาะตรวจน้ำคร่ำอาจจะก่อผลแทรกซ้อนได้ เช่น การแท้ง หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนั้น การตรวจดังกล่าวจึงจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้นนะคะ