ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องเกือบจะทุกคนมักที่จะมีอาการไม่สบายตัวในระหว่างวันเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ หนึ่งในนั้น คือ อาการอ่อนแรง หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม คำถามที่บรรดาหม่ามี้อยากรู้ คือ อาการเหล่านี้มีสาเหตุจากอะไรและสมารถป้องกันได้หรือไม่ ว่าแล้วเราก็ไปตามล่าหาคำตอบกันค่ะ
สาเหตุของอาการหน้ามืดอ่อนแรงจากครรภ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั่นเอง ซึ่งเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลอดเลือดเกิดการหย่อนตัวตามมา และทำให้ความดันต่ำลงเป็นระยะ ขณะเดียวกัน มดลูกของคุณแม่ก็ต้องการเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด
- คุณแม่ท้องจะมีอัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น จังหวะการหายใจจะเร็วขึ้นและลึก ขณะเดียวกันมดลูกที่ขยายตัว ตามการเจริญเติบโตของทารกจนเข้าไปเบียดปอด และกระบังลมทำให้ปอดมีพื้นที่สำหรับการขยายตัวน้อยลง มีผลให้รับออกซิเจนได้น้อยตามไปด้วย จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด
- คุณแม่ท้องมีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด
- คุณแม่ท้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป ทำให้หายใจไม่สะดวก จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด
- คุณแม่ท้องมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง หน้ามืด
วิธีรับมือหรือป้องกันอาการอ่อนแรง หน้ามืด ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
- ทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการนอน โดยนอนตะแคงด้านซ้ายลง ทำให้มดลูกไม่ทับหลอดเลือด เวลาตื่นนอนให้ตะแคงด้านซ้ายลงแล้วนับ 1-10 เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี จึงค่อยลุกขึ้น
- พยายามอย่าโค้งหรืองอตัว ซึ่งจะทำให้การหายใจไม่สะดวก และควรใช้หมอนหนุนศีรษะ และไหล่ขณะนอน
- เมื่อคุณแม่ท้องต้องเดินขึ้นบันไดควรเดินขึ้นบันไดอย่างช้าๆ
- ขณะเดิน ควรหยุดพักเป็นช่วงๆ
- คุณแม่ควรเดินไปมาสลับไปด้วย ถ้าต้องยืนเป็นเวลานาน
- เมื่อรู้สึกหายใจไม่สะดวก ให้นั่งพักและทำสมาธิหายใจเข้า-ออก อย่างช้าๆ
- ควรรับประทานอาหารว่างบ่อยๆ ในระหว่างวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยเมื่อได้พบแพทย์ที่ฝากครรภ์ คุณแม่ควรจะแจ้งคุณหมอให้ทราบอาการเหล่านี้ด้วยนะคะ เพื่อคุณหมอจะได้แนะนำวิธีบรรเทาอาการหรือตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมค่ะ