สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณแม่ตั้งครรภ์ในฐานะที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งยังมีอีกหนึ่งชีวิตในครรภ์ที่ต้องปกป้อง จึงต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อโควิด- 19 และเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูกน้อย

สถานการณ์โรคโควิด-19 กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 2,491 ราย แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 1,700 ราย ต่างชาติจำนวน 791 ราย มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตสะสม จำนวน 58 ราย ทารกเสียชีวิตสะสมจำนวน 24 ราย
โดยจังหวัดที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 ราย จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 399 ราย และจังหวัดปทุมธานี 101 ราย ตามลำดับ ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ทารกมีโอกาสเข้ารักษาไอซียู 4.9 เท่า และมีโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อด้วยร้อยละ 3-5
ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อโควิด- 19 และมีความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาตัว มีดังนี้
1. ยกระดับการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วย ATK เมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังตรวจแล้วหากพบผลตรวจเป็นบวก ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งแบบ RT-PCR
2. ถ้าพบการติดเชื้อแต่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ให้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ แต่ในระหว่างอยู่ที่บ้านถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เหนื่อย หอบ มีไข้สูง ต้องเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลต่อไป
3. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ทีคลินิกฝากครรภ์ในสถานบริการใกล้บ้าน
4. หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงให้เน้นทำงานที่บ้าน ( Work From Home) และปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
5. ในกรณีที่บ้านมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน ควรสวมหน้ากากขณะอยู่ร่วมกัน
6. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกัน เวลาคุยกับคนอื่นให้คุยห่างกัน 1.5-2 เมตร รวมถึงกินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ
7. หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
8. หมั่นสังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน และหลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการฉีด จะทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด