“โรคไข้หวัดใหญ่” เป็นโรคพบบ่อยทุกกลุ่มอายุ โดยระบาดมากในช่วงฤดูฝน ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดย “คุณแม่ท้อง” มีโอกาสเสี่ยงเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าคนปกติ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะลดต่ำลงเล็กน้อยในระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสรีรวิทยาของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ มีความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไป เช่น ภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ ส่งผลให้คุณแม่ท้องมีความเสี่ยง เมื่อได้รับเชื้อไข้หวัดแล้ว อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้คุณแม่ท้องควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 สปสช.ได้เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่ 3.1 ล้านโดส โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) และหน่วยบริการ เพื่อฉีดให้กับประชาชน 4 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ โดยสามารถรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการรัฐและเอกชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 เป็นต้นไป
สำหรับกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่…
- หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
- ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี
สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่นี้ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายชนิด 3 สายพันธุ์ คือ ชนิด A (H1N1), A (H3N2) และชนิด B ซึ่งมีความคุ้มค่าและความปลอดภัยกว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ที่เพิ่งมีใช้ในภาคเอกชน เพราะมีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยยาวนานกว่า 10 ปี และยังเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ผลดี เนื่องจากเชื้อไม่มีปัญหากลายพันธุ์
แต่ละปีเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงและพบการกลายพันธุ์ คุณแม่ท้องรวมถึงกลุ่มเสี่ยงจึงควรติดตามข่าวสุขภาพอยู่เสมอ รวมถึงปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันตัวจากภัยสุขภาพอย่างถูกวิธีนะคะ