รู้จักห้องคลอด… ก่อนต้องเข้า

0

ห้องคลอด…. เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ  ในสมัยโบราณการคลอดส่วนใหญ่จะเกิดที่บ้าน แต่หลังจากที่มีการตระหนักถึงอันตรายทั้งก่อนการคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด ทำให้ค่อยๆ เกิดความคิดเรื่องการจัดการห้องคลอดให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้น เพื่อความสะดวกในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและเมื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ทำให้ห้องคลอดมักจะอยู่ติดหรือรวมเอาห้องผ่าตัดเข้าไปไว้ในตัวด้วยเลย

โดยทั่วไปห้องคลอดในโรงพยาบาลจะประกอบด้วยส่วนหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนรอคลอดซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่ในส่วนนี้นานกว่าส่วนอื่นๆ และ
  • ส่วนทำคลอดเป็นสถานที่ซึ่งเกิดการคลอดขึ้นจริงๆ

“ห้องรอคลอด”

เป็นที่ที่บรรดาคุณแม่ซึ่งมีอาการเจ็บครรภ์จริง และพร้อมที่จะคลอดบุตรเข้ามานอนพักเพื่อรอให้ปากมดลูกเปิดเสียก่อน ถึงจะสามารถคลอดได้ในช่วงแรก ซึ่งเรียกกันว่าระยะเฉื่อย (Latent Phase) ปากมดลูกจะค่อยๆ เปิดอย่างช้าๆ เมื่อหัวเด็กค่อยๆ เคลื่อนลงต่ำ ช่วงนี้จะใช้เวลานานที่สุด แต่ยังสามารถจิบน้ำ เดินไปเดินมาได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่างนี้คุณจะมีอาการเจ็บท้องหรือท้องปั้นเป็นระยะห่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่ามดลูกกำลังบีบตัวเพื่อดันทารกลงมา และเด็กคนหนึ่งกำลังจะคลอดในไม่ช้า

รู้จักห้องคลอด  (1)

ในช่วงแรกแพทย์และพยาบาลจะทำได้เพียงแค่คอยดูแลอยู่ห่างๆ ตรวจร่างกายเป็นระยะทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยประมาณ และรอให้ปากมดลูกเปิดหมดเสียก่อน   ไม่ควรจะรีบร้อนเบ่งในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะเปลืองแรงโดยเปล่าประโยชน์แล้ว (คือไม่ได้ทำให้คลอดได้เร็วขึ้น ไม่ได้ทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไวขึ้น) ยังทำให้ปากมดลูกบวม ทำให้การคลอดช้าลงอีกด้วย

หลังจากผ่านพ้นระยะแรกไปจนกระทั่งปากมดลูกเปิดได้ราวๆ 3-4 เซนติเมตรแล้ว คุณแม่จะถูกย้ายมานอนในอีกห้องหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ห้องทำคลอด” นั่นเอง

“ห้องทำคลอด”

เมื่อย้ายเข้ามาในส่วนที่ 2 หรือส่วนทำคลอด   จะถูกให้งดน้ำงดอาหาร  การที่ให้งดน้ำงดอาหารก็เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ เนื่องจากถ้ามีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นจริง และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดด่วน หากมารดามีอาหารหรือน้ำค้างคาอยู่ในกระเพาะอาหารจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักลงปอดในช่วงที่ต้องทำการผ่าตัด  เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปอดอักเสบ หรือแม้กระทั่งอาจจะขาดอากาศจนเสียชีวิตก็มี

รู้จักห้องคลอด  (2)

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากห้องรอคลอด คือ คุณแม่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินไปมา ให้นอนอยู่บนเตียงเท่านั้น ช่วงนี้ส่วนมากจะรู้สึกเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น อาการปวดจะมากขึ้น เนื่องจากศีรษะของทารกลงต่ำมากขึ้น เพื่อพยายามดันให้ปากมดลูกเปิดหมด คือ 10 เซนติเมตร ในช่วงนี้แพทย์อาจจะให้ยาเร่งคลอดร่วมไปกับยาแก้ปวดทางสายน้ำเกลือ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการปวดมักจะไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้ง (ยกเว้นกรณีให้ยาแก้ปวดเข้าทางไขสันหลัง ซึ่งต้องให้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้วางยา) เนื่องจากให้ยาแก้ปวดในปริมาณที่สูงจนกระทั่งแม่หายปวด ทารกที่คลอดออกมาจะได้รับผลข้างเคียงจากยา ทำให้ไม่สามารถหายใจเองได้ และเมื่อปากมดลูกเปิดหมด 10 เซนติเมตร กระบวนการคลอดจริงๆ จึงจะเริ่มต้นขึ้น

ในช่วงกระบวนการคลอดนี้ แพทย์และพยาบาลจึงจะเข้ามามีบทบาทในการช่วงทำคลอด แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงที่รอให้ปากมดลูกเปิดหมด เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการของธรรมชาติอย่างแท้จริง การแพทย์มีส่วนเข้าไปแทรกแซงน้อยมาก บทบาทหลักของแพทย์และพยาบาลในกระบวนการคลอดส่วนมากนั้น เป็นการป้องกันและรับมือเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แพทย์จึงจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ เพื่อดูแลให้คุณแม่และทารกคลอดได้อย่างปลอดภัยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *