การดิ้นของทารกในครรภ์ หมายถึง การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของทารกในครรภ์ทุกลักษณะ ได้แก่ การยืดแขน ขา ลำตัว หรือการถีบกระทุ้ง เป็นต้น ซึ่งในการดิ้นของทารกในครรภ์ แม่จะรู้สึกได้ว่ามีส่วนของทารกมากระแทกที่หน้าท้องทุกครั้ง ทั้งนี้ “การนับลูกดิ้น” ถือเป็นกิจวัตรสำคัญที่แม่ท้องห้ามละเลยโดยเด็ดขาด
โดย “การดิ้นของลูกในครรภ์” ในทางการแพทย์ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ และบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยได้ด้วย นอกจากนี้การนับลูกดิ้น ยังเป็นสิ่งที่คุณแม่ท้องต้องทำเพื่อป้องกันแก้ไขภาวะลูกตายในครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะแม่ที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ และใกล้ หรือเลยกำหนดคลอด
สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้เกี่ยวกับ “การนับลูกดิ้น”
- เริ่มสังเกตและนับความถี่ของการดิ้นของทารกในครรภ์ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 6 เดือนเป็นต้นไป จนกระทั่งคลอด
- ควรสังเกตลูกดิ้นทุกวัน และจดบันทึก อย่างน้อยวันละ 3 เวลา
- การสังเกตลูกดิ้นจะทำเมื่อแม่อยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำงาน เช่น หลังกินข้าว ก่อนนอน หรือเมื่อตื่นนอน เป็นต้น โดยขณะบันทึกคุณแม่ควรอยู่ในที่เงียบ เพราะจะทำให้มีสมาธิในการรับรู้ถึงการดิ้นของทารกได้ดี
- ท่าที่ดีที่สุดในการรับรู้ถึงการดิ้นของทารก คือ ท่านอนตะแคงซ้าย
- ลูกดิ้นคือเมื่อแม่รู้สึกลูกขยับเคลื่อนไปมาในท้อง ถ้ารู้สึกเพียงท้องตึงหรือลูกดึงตัวไปมาไม่นับว่าเป็นลูกดิ้น
- หากแม่สงสัย ไม่เข้าใจ หรือทำไม่ได้ ต้องถามแพทย์หรือพยาบาลทันที
- เวลา 1 ชั่วโมงที่เฝ้าสังเกต แม่ควรรู้สึกลูกดิ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง หากไม่รู้สึก หรือรู้สึกไม่ถึง 3 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจลูกด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ต่อไป
ทั้งนี้ “ครรภ์แรก” จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน ส่วน “ครรภ์หลัง” จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน และให้เริ่มบันทึกลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 6 เดือนนะคะ