ยุคนี้แทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ที่ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านไม่ต่างจากผู้ชาย ไม่เว้นแม้แต่เหล่าคุณแม่ท้อง และเพราะงานของแม่แต่ละท่านแตกต่างกัน เพื่อความปลอดภัยของเบบี๋ในท้องรวมถึงตัวคุณแม่เอง หากรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีความเสี่ยง สามารถขอนายจ้างเปลี่ยนงานได้ ซึ่งตรงนี้มีกฎหมายรับรองค่ะ
ข้อมูลจาก นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า…
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์และมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่า ไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ มีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และนายจ้างจะต้องพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นด้วย
สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0-224-5717, 0-2246-6389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
ข้อควรระวังในการทำงานของคนท้อง
- ทำงานหนักหรือต้องใช้แรงงาน เช่น งานกรรมกร แบกหาม หาบเร่ ฯลฯ ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเปลี่ยนไปทำงานที่เบาลง
- ทำงานที่ต้องยืนนานๆ หรือเดินมากเกินไป เพราะการยืนนานๆ จะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดขาได้ ส่วนการเดินมากเกินไปก็อาจจะทำให้คุณแม่ปวดท้องได้
- ทำงานนั่งโต๊ะในที่ทำงาน หรือเป็นงานที่ต้องใช้สายตาและความคิด เพราะทำให้เกิดความเครียดและมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
- ทำงานเป็นกะหรือเป็นเวร ควรเปลี่ยนมาทำงานในกะกลางวันแทน ในช่วงกลางคืนคุณแม่ควรนอนพักผ่อนให้เต็มที่เพราะเวลานี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายผลิต Growth Hormone ซึ่งสำคัญต่อทารก
- ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสารเคมีเป็นพิษ เอกซเรย์ หรือสารกัมมันตภาพรังสี
- ทำงานในสถานที่ทำงานที่มีมลพิษ เช่น มลพิษในที่ทำงาน ควันบุหรี่ และการถ่ายเทของอากาศที่ไม่ดีพอ
นอกจากนี้ คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร เพราะจะมีรังสีเอกซเรย์แผ่ออกมา รวมทั้งผงถ่านคาร์บอนที่ฟุ้งกระจายอยู่ในห้อง อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ