เล่นกับลูกให้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรอบด้านให้เด็ก

0

ธรรมชาติของเด็กวัยซนย่อมต้องมีความสุขกับการเล่น โดยการเล่นเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ รู้จักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รู้จักช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผล พ่อแม่ควรเล่นกับลูกโดยเลือกการเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัย การใช้เวลาเล่นกับลูกจะช่วยเพิ่มสายใยรักระหว่างพ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ผลงานวิจัยในระดับสากลชี้ชัดว่า การเล่นในเด็กปฐมวัย เช่น การเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ดิน ทราย น้ำ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ต่อบล็อกไม้ ฉีก ตัด ปะกระดาษ วิ่งเล่นในสนาม ปีนป่าย เล่นบทบาทสมมติ เล่นดนตรี ทำงานบ้าน และการอ่านหนังสือ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการกระตุ้นสมองให้เปิดรับการเรียนรู้ ผ่านความรู้สึกสนุก ก่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้ และพัฒนาการรอบด้าน 

ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และช่วยเสริมทักษะการคิดเชิงบริหาร EF (Executive Function) ในการจัดการความคิด ความรู้สึก และการกระทำ การยืดหยุ่นทางความคิด การวางแผน ตั้งเป้าหมาย แก้ไขปัญหา เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่วัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมรับมือกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์

ผลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) ซึ่งเป็นการสำรวจระดับโลกที่จัดทำต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 6 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัย เก็บข้อมูลใน 17 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มตัวอย่าง 8,856 คน พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

เด็กปฐมวัยได้เล่นกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ร้อยละ 90.3 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 11 จาก 84 ประเทศ ที่มีรายได้ต่ำ หรือปานกลาง โดยการเล่นที่พบมากที่สุด คือ การเล่นกับเด็ก ร้อยละ 98 การพาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้าน ร้อยละ 97 และการหัดเรียกชื่อ นับเลขหรือวาดรูป ร้อยละ 95 ส่วนการเล่นที่พบน้อยที่สุด คือ การเล่านิทาน ร้อยละ 84 การร้องเพลง ร้อยละ 80 การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพ ร้อยละ 78

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า การมีหนังสือสำหรับเด็ก ในครอบครัว อย่างน้อย 3 เล่ม ส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่มากขึ้นถึง 3 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับการมีของเล่นในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่ต้องซื้อมา อาจจะเป็นการประดิษฐ์เองจากของใช้ในบ้าน ล้วนส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่มากขึ้นถึง 1.5 เท่า แต่ในทางกลับกัน พบว่าเด็กปฐมวัย ร้อยละ 64 มีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยระยะเวลาการใช้จอที่มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่ลดลง ถึงร้อยละ 50

ไม่อยากให้เจ้าตัวซนติดจอจนทำไปสู่ผลเสียมากมายต่อสุขภาพและพัฒนาการที่ถดถอย พ่อแม่ต้องหมั่นหาเวลาเล่นกับลูกให้มากขึ้น และลดการใช้หน้าจอลง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *