“โรคมะเร็งในเด็ก” เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมีอัตราเกิดโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่
คำถาม คือ “โรคมะเร็ง” ในเด็ก มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
ข้อมูลจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า
ปัจจุบันประเทศไทย พบอุบัติการณ์ของเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 1,000 รายต่อปี โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบได้มากกว่าร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเด็ก รองลงมา ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งต่อมหมวกไต
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็ก
เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งจอตา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ เช่น รังสีเอกซ์ รังสีแกมม่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลร่วมด้วย
การกินผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง เชื้อราในถั่วลิสง ข้าวโพด อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก เช่น หอม กระเทียม พริกแห้ง การกินอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งรส สีต่างๆ หรือรมควัน ตลอดจนเกิดจากการติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัส เอชไอวี ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี รวมทั้งการขาดสารบางชนิดของมารดาขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น วิตามินบี 9
ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า
การวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กมีขั้นตอนและวิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือด สำหรับวิธีที่ได้ผลดีและแน่นอนที่สุด คือ การเจาะ ดูด หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบทางเซลล์วิทยาหรือพยาธิวิทยา ส่วนวิธีการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และวิธีรังสีรักษา
สำหรับอาการของโรคมะเร็งในเด็กโดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือสามารถระบุอาการต่างๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกต ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกายมีอาการไข้สูงโดยจะเป็นๆ หายๆ มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย มีจุดเลือดตามลำตัว แขน หรือขา อาการจะคล้ายคนเป็นไข้เลือดออก และอ่อนเพลียง่าย
ดังนั้น วิธีป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก คือ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ และคอยหมั่นสังเกตเด็กหากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยทันทีค่ะ