“โรคอ้วนในเด็ก” ได้เริ่มเป็นปัญหาระดับชาติในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่ามีจำนวนเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน ฉะนั้น แม้ “เด็กอ้วน” แม้จะดูน่ารักน่าเอ็นดูในสายตาผู้ใหญ่หลายๆ คน แต่เราอยากให้โฟกัสถึงความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่แฝงมากับความอ้วนด้วย
หากลูกรักวัยซนเริ่มน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะถ้าไม่ได้ควบคุมดูแลปล่อยให้เจ้าตัวซนกินอาหารแบบตามใจปาก รวมถึงปล่อยให้นั่งๆ นอนๆ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่มีกิจกรรมทางกายให้ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ย่อมมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างอ้วน พ่วงด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior : SB)
พฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ ที่ไม่ใช่การนอนหลับพักผ่อน เช่น การนั่งหรือนอนดูทีวี ดูหนัง เล่นไลน์ เล่นเกมมือถือ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งอันตรายของพฤติกรรมเนือยนิ่งในวัยเด็ก มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ
คำแนะนำการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการเพิ่มกิจกรรมทางกาย สำหรับเด็กอ้วน
- ส่งเสริมและสนับสนุน การลดพฤติกรรมที่อยู่นิ่งๆ หรือเรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เช่น การนั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มกิจกรรมทางกายตามวิถีชีวิต
- ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เด็กอ้วนทำกิจกรรมทางกายที่ชื่นชอบระดับปานกลางถึงระดับหนัก (เหนื่อยหรือหอบ) อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน
- ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เด็กอ้วนมีกิจกรรมทางกายร่วมกันทั้งครอบครัว
- สนับสนุนการสร้างนิสัยทำ กิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำการบ้าน การเดิน และขี่จักรยานแทนการนั่งรถยนต์ เป็นต้น
- ส่งเสริมและสนับสนุน การเล่นเกมกิจกรรมทางกาย เกมกีฬาในเด็กอ้วน และเด็กวัยเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กฎกติกาและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- พ่อแม่ จะต้องทำ ให้เด็กเห็นและปฏิบัติ
- การทำให้เด็กรักการทำกิจกรรมทางกายและทำกิจกรรมทางกายอย่าสม่ำเสมอจะเป็นสมบัติติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต
การลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและเพิ่มกิจกรรมทางกาย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กอ้วน พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคค่ะ