ตำราโดยทั่วไปมักกล่าวไว้ว่า เด็กจะพร้อมสำหรับการฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุราวๆ 1 ขวบ 5 เดือน ถึง 2 ขวบ 5 เดือนซึ่งอาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ และการฝึกต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเร็วหรือนานเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ อายุที่เหมาะสม วิธีการฝึก สภาพจิตใจ สรีรวิทยาของเด็ก สังคมวัฒนธรรมของครอบครัว
ฟังอย่างนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่า อะไรจะยากเย็นขนาดนั้นแต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยค่ะ แต่เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกและช่วยเหลือเขาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมค่ะ
ฝึกอย่างไร?
- ก่อนอื่นคุณบอกลูกให้เข้าใจความหมายของคำว่า อึ ฉี่ โดยการพูดบ่อยๆ เวลาที่ลูกแสดงอาการนั้นๆ ลูกจะค่อยๆ จดจำว่า การปวดแบบไหนคือปวดอึ แบบไหนคือปวดฉี่
- พ่อคุณแม่ควรจะเตรียมคำศัพท์ ในการเรียกส่วนต่างๆของร่างกาย ที่จะใช้ในการขับถ่าย รวมไปถึงอุจจาระ และปัสสาวะ ในเชิงที่เด็กจะใช้สื่อความหมายกับเราได้ และไม่เป็นคำที่ฟังดูหยาบ หรือน่าเกลียด เพราะเด็กจะต้องใช้คำเหล่านี้ กับเพื่อนๆ หรือคุณครู ฯลฯ ไม่เช่นนั้น คำพูดเหล่านี้อาจทำให้เด็กรู้สึกอับอาย หรือขยะแขยงได้
- เลือกกระโถนที่ลูกนั่งถนัด ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป และไม่จำเป็นต้องมีของเล่นติดมากับกระโถน เพราะอาจทำให้อยากเล่น จนไม่ยอมเบ่งถ่าย ถ้าใช้ชักโครกก็ให้ใส่ที่ครอบชักโครกสำหรับเด็ก และวางเก้าอี้ตัวเล็ก ที่สำหรับวางเท้าเด็กได้พอดี เพื่อป้องกันการตก และช่วยให้นั่งได้ถนัด เบ่งถ่ายง่ายขึ้น
- พาลูกเข้าห้องน้ำ หรือนั่งกระโถนหลังจากตื่นนอน และทุก 2 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน ขณะพาลูกเข้าห้องน้ำให้ทำเสียง ฉี่ ให้เคยชิน จนลูกเข้าใจว่า เมื่อเกิดอาการปวด ต้องเข้าห้องน้ำ
- ในช่วงแรกลูกอาจยังไม่คุ้นเคยกับการนั่งกระโถนหรือชักโครก อาจจะลองให้นั่งโดยยังไม่ถอดกางเกง (ในกรณีเด็กที่ถ่ายอุจจาระใส่ผ้าอ้อมจนเคยชิน) ก่อนก็ได้ เพื่อให้คุ้นชิน จากนั้นเมื่อเห็นว่าเด็กคุ้นเคย จึงลองถอดกางเกง แต่ไม่ควรบังคับให้นั่ง
- ช่วงแรกๆ ให้สังเกตก่อนว่าลูกขับถ่าย (อุจจาระ) เป็นเวลาหรือไม่ ถ้าส่วนใหญ่จะเป็นเวลาเดิมทุกวัน ให้พาลูกเข้าห้องน้ำ หรือนั่งกระโถนช่วงเวลานั้นๆ
- ถ้าไม่สามารถสังเกตได้ ให้พาลูกนั่งกระโถน หรือชักโครกทุกเช้า หรือหลังอาหารเย็น วันละ 1-10 นาที (หรือนานกว่านี้เล็กน้อย) แล้วทำเสียง อึ๊…….. แต่ต้องให้เด็กเต็มใจ อย่าใช้วิธีการบังคับ และในช่วงกลางวันอาจวางกระโถนใกล้ๆ ให้ลูกเห็น หรือใช้ได้ง่าย
- เมื่อขับถ่ายเรียบร้อย ล้างก้น และอวัยวะเพศ ทุกครั้ง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ควรใช้ซับให้แห้งด้วย เป็นการสอนลูกเรื่องการรักษาความสะอาดให้ลูกเคยชิน
- เมื่อลูกขับถ่ายได้ ควรให้กำลังใจ ชมเชยทุกครั้ง และไม่ต่อว่าเมื่อเด็กทำเลอะเทอะ
- ถ้าลูกมีอาการท้องผูก อาจทำให้เด็กไม่ยอมถ่าย เพราะถ่ายแล้วเจ็บ ยิ่งจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องแก้ไขอาการท้องผูก เช่น เพิ่มอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ดื่มน้ำมากขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยให้ลูกต้องเบ่งอุจจาระ จนทำให้เจ็บก้น หรือมีเลือดออกมาบ่อยๆ จะทำให้เด็กกลัว
- นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ละเลยที่จะสอนสุขอนามัยต่างๆ ในการใช้ห้องน้ำให้ลูกทุกคน เช่น ต้องหลังมือหลังเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนทุกครั้ง เพื่อความเคยชินเมื่อลูกต้องเข้าห้องน้ำเองค่ะ
การฝึกลูกขับถ่ายนั้นนอกจากจะใช้เวลาแล้ว ที่สำคัญ คือ การใช้น้ำอดน้ำทนของคุณพ่อคุณแม่นี่ล่ะค่ะเป็นสำคัญ เพื่อช่วยให้เขาสามารถข้ามผ่านด่านแห่งพัฒนาการสมวัยอีกขั้นหนึ่งได้อย่างเหมาะสม