รวมเหตุที่ทำให้เด็ก “ปวดหัว”

0

พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนมักมองข้ามเมื่อลูกน้อยวัยซนบอกว่า “ปวดหัว” เพราะคิดว่าอาการเหล่านี้เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น ทั้งที่ความจริงคือเด็กที่มีอายุ 3 ขวบจะเริ่มปวดหัวได้แล้ว โดยอาการปวดหัวของเด็กนั้น จะพบได้มากในเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ว่าแต่สาเหตุใดบ้างที่ทำให้เด็กปวดหัว เราไปค้นหาคำตอบกัน

92

 

การปวดศีรษะในเด็ก อาจเกิดจากที่ศีรษะเองและจากส่วนอื่นของร่างกาย ได้แก่ ตา จมูก ปาก คอ ฟัน และอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดการปวดศีรษะได้ ภายในของกะโหลกศีรษะมีเส้นประสาทนำความรู้สึกหลายทาง นอกจากนี้หลอดโลหิตขนาดใหญ่ที่กะโหลกศีรษะด้านในสมองหดตัว ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กปวดศีรษะ ได้แก่

 

-ปวดจากตา อาการปวดที่มีสาเหตุอยู่ที่ตา อาจปวดที่เบ้าตา หรือกระจายไปบริเวณใกล้เคียงหน้าผาก หรือขมับ ทำให้มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย การใช้สายตามาก สายตาสั้น ยาว หรือเอียงหรือใช้แว่นตาที่ไม่ถูกต้อง โรคของตา เช่น ต้อหิน

-ปวดจากโรคของจมูก เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบ (Rhinitis) โพรงจมูกอักเสบ (Sinusitis) เนื่องจากการอักเสบ ทำให้รูที่ติดต่อกับช่องจมูกอุดตัน มีหนอง หรือน้ำมูกค้างอยู่ในโพรงจมูก (Sinus) ทำให้ปวดศีรษะได้

-ปวดจากฟัน เนื่องจากการอักเสบที่รากฟัน มีการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงฟันทำให้ปวดศีรษะ

-ปวดจากโรคในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ไข้ ความดันโลหิตสูง

-ปวดจากความตึงเครียดของอารมณ์ ทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลายแห่ง เช่น กล้ามเนื้อหลัง ไหล่ ขากรรไกร บางทีมีอาการคลื่นไส้ หงุดหงิด ใจสั่นร่วมด้วย

-ปวดศีรษะจากโรคทางจิต ความผิดปกติทางจิตก็อาจทำให้ปวดศีรษะได้

 

อาการปวดมักหายไปเมื่อเด็กหลับ และโดยทั่วไปอาการมักจะไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น สำหรับอาการปวดหัวชนิดรุนแรง มักมีอาการปวดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปวดได้เกือบตลอดเวลาแม้แต่ในเวลากลางคืนที่เด็กหลับ เมื่อใช้ยาแก้ปวด อาการไม่ดีขึ้น อาจพบอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น ตาเข แขนขาอ่อนแรง อาเจียนพุ่ง ซึม

 

ในส่วนของการดูแลเมื่อเจ้าตัวซนมีอาการปวดศีรษะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรแก้ไขตามอาการ เช่น ใช้ผ้าเย็นลูบเช็ดบริเวณศีรษะ หน้าผาก และใบหน้าประมาณ 10-30 นาที ให้รับประทานยาระงับปวด แต่หากลูกยังไม่ทุเลา รวมถึงปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดหัวบ่อย ๆ ปวดหัวอย่างรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

 

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะสุขภาพฟันและสายตา พร้อมกับการดูแลสุขภาพจิต โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเกิดภาวะเครียด หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสมอง และพาไปฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *