สอนลูกอย่างไร ให้เข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย

0

ภัยร้าย อันตราย และอุบัติเหตุต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและลดความเสี่ยง จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการเลี้ยงลูกหรือสอนลูกของเราเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อพร้อมรับมือกับบรรดาภัยอันตรายต่างๆ

ความปลอดภัย (Safety) หมายถึง สภาวะความเสี่ยงที่บุคคลจะได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต หรือทรัพย์สินจะได้รับความเสียหาย ถูกลดลง และดำรงไว้ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับที่ยอมรับได้ หรือก็คือการที่ร่างกายปราศจากอุบัติภัยหรือทรัพย์สินปราศจากความเสียหายใดๆ ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ล้วนต้องการความปลอดภัยทั้งสิ้น 

รวมวิธีสอนลูกวัย 3-5 ปีให้เข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย

1. จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเด็กและอธิบายให้เด็กเข้าใจอย่างง่ายๆ ถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีความปลอดภัย เช่น มีรั้วไว้ทำไม ทำไมต้องมีราวบันได ทำไมต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งไว้ ฯลฯ

2. ชี้ชวนให้เด็กดูป้ายสัญลักษณ์ที่บอกทั้งความปลอดภัยและอันตราย เช่น ป้ายหนีไฟ ป้ายเขตห้ามเข้า ป้ายไฟฟ้าแรงสูง ป้ายระวังลื่น ลูกศรบอกทิศทางขึ้น หรือลงบันได

3. ผู้ใหญ่มีสำนึกในเรื่องความปลอดภัยและชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย วิธีถือดินสอ วิธีถือกรรไกรตัดกระดาษ การเล่นอย่างปลอดภัย

4. ชวนเด็กพูดคุยถึงความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถยนต์ รถโดยสาร เช่น ไม่ควรยื่นมือหรือส่วนของร่างกายออกนอกรถ ไม่ควรรบกวนพ่อหรือแม่ หรือคนขับรถ ในส่วนของรถจักรยานยนต์ เช่น การสวมหมวกกันน็อค รวมทั้งฝึกให้เด็กสนใจสัญญาณจราจร อันตรายจากอุบัติเหตุ และผลของอุบัติเหตุ การข้ามถนน และการไม่ข้ามถนนตามลำพัง

5. สอนเด็กให้หัดแก้ปัญหาเมื่อพลัดหลงกับผู้ใหญ่ เช่น จำเบอร์โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ ที่ตั้งของบ้าน ไม่ควรเอาป้ายชื่อ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ซึ่งพ่อแม่ติดไว้ให้ที่หน้าอกออก แนะนำ รปภ. และประชาสัมพันธ์ในสถานที่ที่ไปให้เด็กรู้จัก รวมทั้ง แนะนำลูกว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น ไฟไหม้ คนต่อสู้กัน ฯลฯ

6. สอนวิธีการดูแลตนเอง (เช่น ไม่ไปกับคนแปลกหน้า ไม่ไปในสถานที่อันตราย ไม่อ่านหนังสือในที่มีแสงจ้า และมีระยะห่างในการอ่านพอควร ระยะเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ไม่เล่นริมน้ำ ไม่เล่นไม้ขีดไฟ การใช้บันไดฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ รวมทั้งการปลดล็อกเข็มขัดนิรภัย)

7. สอนให้เล่นโดยไม่ใช้ความรุนแรงในการเล่นทั้งกับผู้อื่น หรือเมื่อเวลาเล่นคนเดียว

8. สอนให้เด็กรู้จักสัตว์ ประเภทของสัตว์ วิธีการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง รวมทั้งการปฏิบัติต่อสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และอาจเป็นอันตราย เช่น สุนัขจรจัด แมลงต่างๆ ฯลฯ

9. ชวนเด็กเล่นบทบาทสมมุติเมื่อมีคนแปลกหน้ามาให้ขนมควรทำอย่างไร

10. ชี้ชวนให้เด็กระมัดระวังอาหาร ขนม ของเล่น และของใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น หมากฝรั่ง อาหารที่มีแมลงวันตอม ขนมสีฉูดฉาด ฯลฯ 

ภัยร้ายมีอยู่รอบตัวเรา ไม่อยากให้เจ้าตัวซนเสี่ยงอันตรายหรือตกเป็นเหยื่อ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่างๆ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *